สิวเสี้ยน(Trichostasis spinulosa)


  • สิวเสี้ยน (Trichostasis Spinulosa=TSS) เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมาก ตั้งแต่วัยรุ่น จนถึงวัยกลางคน เป็นความผิดปกติของต่อมรูขน (pilosebaceous follicle
s) โดยมีลักษณะคล้ายสิวอุดตันหัวดำ (Black comedone)แต่จะมีกระจุกเซลล์ขน ( vellous telogen hair ) แทรกอยู่ด้วย มีลักษณะเป็นจุดดำๆ หรือมีหนามแหลมๆยื่นออกมาทางขุมขนบริเวณจมูก หน้าผาก หรือข้างแก้ม และที่หลังบริเวณกระดูกสบัก
  • กลไกการเกิดของสิวเสี้ยน ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากการสร้างเซลล์ขนในระยะ Vellous telogen hair มากกว่าปกติ มักจะเกิดบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก โดยจะเริ่มจาก มีการอุดตันเกิดขึ้นที่ท่อต่อมไขมัน และไขมันที่ถูกสร้างขึ้นจะรวมตัวกับเซลล์ชั้นขี้ไคลจากผนังท่อ กลายเป็นก้อนที่เรียกว่า Comedone (คอมีโดน) ต่อมาจะมีเซลล์ขนที่เกิดมากกว่าปกตินี้มาพอกสะสมกับเป็นก้อนคุดคู้อยู่ข้างใน เรียกว่า ในรูขุมขนแทนที่จะมีขนเพียง 1 เส้น แต่กลับมีขนเส้นเล็กๆ 3-4 เส้น อัดกันแน่น รวมตัวกับเซลล์ชั้นขี้ไคล และถูกห่อหุ้มด้วยผนังท่อต่อมไขมัน เกิดการอุดตัน และทำให้หลุดออกได้ยากกว่าปกติ
  • ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดสิวเสี้ยน 
    1. ฮอร์โมนเพศในร่างกาย ซึ่งมีผลกระตุ้นต่อมไขมัน ให้ทำงานมากขึ้น ผลิตไขมันออกมามาก ส่งเสริมให้เกิดการอุดตันได้ง่ายขึ้น 
    2. การรบกวนผิวมากๆ เช่น การเช็ดถูหน้าแรงๆ, การขัดหรือนวดหน้า ซึ่งการกระทำเช่นนี้จะรบกวนรูขุมขน หรือต่อมไขมัน ทำให้รูขุมขน หรือรากขนนั้นแตก ขนจึงมีสิทธิ์ที่จะคุดอยู่ข้างในได้เพิ่มมากขึ้น กลายเป็นหนามแหลมๆทั้งใบหน้าได้
  • ได้มีรายงานการทดลองของ Dr. Chung TA และคณะ แห่งแผนกโรคผิวหนังของประเทศเกาหลี ( Department of Dermatology,Pusan National University of Korea) ได้นำคนไข้ที่มีปัญหาสิวเสี้ยนในบริเวณต่างๆ จำนวน 30 คน มาทำการเพาะเชื้อและตัดชิ้นเนื้อดูผ่านกล้องจุลทรรศน์ พบว่าภายในสิวเสี้ยนจะพบการติดเชื้อแบคทีเรีย Propionibaterium ที่ทำให้เกิดสิวอักเสบ และเชื้อรา Pityrosporum ที่ทำให้เกิดรังแค ได้ถึง 73.3 % และ 82.6% ตามลำดับ จึงสันนิษฐานว่าการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราดังกล่าว อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสิวเสี้ยนได้อีกสาเหตุหนึ่ง
  • แนวทางการแก้ไข 
    1. กรดวิตามินเอ : ที่มีบทบาทมากในการรักษาสิวเสี้ยน คือ ซึ่งมีคุณสมบัติในการเข้าไปละลายการอุดตันของต่อมไขมัน มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียสิว P.acne จึงป้องกันและทำให้สิวเสี้ยนหลุดออกได้ง่าย อาจจะใช้ในรูปของยาทา หรือทำไอออนโตด้วยกรดวิตามินเอ แต่มีข้อควรระวังก็คือ เนื่องจาก กรดวิตามินเอ มีการระคายเคืองได้ง่าย จึงมีแนวโน้มที่จะทำให้ผิวแห้ง ผิวลอก หน้าแดงได้ จึงควรทากรดวิตามินเอเฉพาะบริเวณจมูก หน้าผาก หรือคางที่มีสิวเสี้ยน แล้วทิ้งไว้ 5-10 นาที หรืออาจทิ้งไว้นานกว่านี้ได้ถ้าไม่มีอาการดังกล่าว บางครั้งอาจจะผสม ไลโบโซม ซึ่งลดการระคายเคืองของกรดวิตามินเอ ทำให้สามารถทาทิ้งไว้ทั้งคืนได้ สะดวกในการใช้มากขึ้น 
    2. Chemical Peeling: เป็นแนวทางการรักษาอีกวิธีหนึ่งกรณีที่กรดวิตามินเอไม่สามารถทำให้หลุดได้หมด โดยใช้สารเคมีพิเศษ เช่น TCA,AHA,BHA เพื่อลอกผิวหน้า เปิดรูขุมขนหรือรูสิวเสี้ยน เพื่อง่ายต่อการกดออก หรือดึงออกด้วยครีมคีบสิวเสี้ยน 
    3. Scottape technique: โดยอาจจะอยู่ในรูปของแผ่นแปะจมูกที่เคลือบสารที่ทำให้ติดแน่น แปะที่จมูกและทิ้งไว้ระยะหนึ่ง แล้วค่อยดึงออก หรือ ใช้สาร Cyanoacrylate polymer glue ซึ่งมีคุณสมบัติในการติดแน่น คล้ายคลึงกับกาวตราช้าง( ซึ่งมีส่วนประกอบของสารคล้ายคลึงกัน) ใช้ทาบน slide แล้วนำไปวางบริเวณสิวเสี้ยน แล้วดึงออก สิวเสี้ยนจะหลุดติดออกมา แต่ก็มีข้อจำกัด คืออาจจะทำให้แพ้สารเคมีนี้ได้ และกำจัดสิวเสี้ยนได้ไม่หมด และไม่สามารถกำจัดสิวเสี้ยนได้ทุกที่ 
    4. การกำจัดสิวเสี้ยนด้วย Laser : ได้มีรายงานการวิจัยของนพ. วรพงษ์ มนัสเกียรติและคณะจากรพ.ศิริราช ในการประชุมประจำปีของสมาคมแพทย์โรคผิวหนังในปี 2545 ถึงการทำการรักษาคนไข้ที่มีปัญหาสิวเสี้ยนจำนวน 13 คน โดยใช้ 800 NM Pulse Diode Laser พบว่าหลังทำจุดดำๆ จากสิวเสี้ยนลดลงได้มากกว่า 50 % และเมื่อทำหลายๆ ครั้งสามารถกำจัดสิวเสี้ยนได้เกือบหมด แต่ไม่ช่วยในเรื่องรูขุมขนที่กว้าง ที่อาจจะทำให้เกิดสิวเสี้ยนได้อีก มีผลข้างเคียงหลังทำเพียง รอยแดงบริเวณรูขุมขนหลังทำ 2-3 วันก็หายดี 
    5. การกำจัดสิวเสี้ยนด้วยเครื่อง IPL (intense pulse light): โดยอาศัยหลักการที่สิวเสี้ยน คือ กระจุกขนที่อัดแน่นบริเวณรูขุมขน ดังนั้นการ apply การกำจัดขนด้วยเครื่อง IPL จึงสามารถทำให้ขนที่คุดคู้นี้หลุดลอกออกได้ โดยเมื่อทำควบคู่กับการทำ Peeling และการทาครีมลอกสิวเสี้ยนที่ผสมวิตามินเอ และช่วยป้องกันการเกิดเซลล์ขนใหม่ในบริเวณดังกล่าวด้วย ซึ่งจากประสบการณ์ของผู้เขียนเอง ได้ผลดีมาก ไม่พบผลข้างเคียง และสามารถทำได้ทุกจุดของร่างกาย
  • สิวเสี้ยน ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด และไม่มีความสัมพันธ์กับโรคอื่น นอกจากเป็นปัญหาในด้านความสวยงาม การแก้ไขต้องควบคู่กับการป้องกัน เพราะรูขุมขนที่กว้าง ง่ายต่อการหมักหมมของสิ่งสกปรกและจุลินทรีย์ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดรูขุมขนกว้าง และการรบกวนรูขุมขน เช่น การนวดหน้า การขัดหน้า การเช็ดถูหน้าแรงๆ 
    เรียบเรียงและค้นคว้าใหม่โดย นพ.จรัสพล รินทระ ......................22 November ,2008

ที่มา : https://www.clinicneo.co.th/detailcolumn.php?grp=3&sdata=&col_id=333

อัพเดทล่าสุด