คำแนะนำการใช้ยาสำหรับโรคผิวหนัง 1


1,567 ผู้ชม


  • เมื่อเรามีปัญหาด้านสุขภาพ และจำเป็นต้องพบแพทย์ เมื่อผ่านขั้นตอนต่างๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการวินิจฉัยโรค การตรวจทาง��
�้องปฎิบัติการ การรับการรักษาเบื้องต้น และขั้นตอนสุดท้าย ก็คือ การจ่ายยาให้กลับไปใช้ ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เพราะการรักษาจะได้ผลสูงสุด ผู้รับบริการจะต้องรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับยาที่ใช้ วิธีใช้ ขนาด การเก็บรักษา ผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งในคลินิกผิวหนังเองก็เช่นกัน การให้ความสำคัญกับยาที่ใช้ ระยะเวลาที่ใช้ในการรักษา ความต่อเนื่องของการรักษา วิธีการใช้ยาร่วมกันหลายตัว ผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น พนักงานจ่ายยาอาจจะไม่มีเวลา ได้อธิบายอย่างละเอียด ดังนั้นการได้รับความรู้ เกร็ดเล็กๆน้อยๆ เบื้องต้น อาจจะช่วยให้เราใช้ยาได้ถูกต้อง มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดผลข้างเคียงให้น้อยที่สุด คำแนะนำที่สำคัญในการใช้ยาสำหรับโรคผิวหนังที่ใช้บ่อยๆ มีดังนี้
  • กลุ่มยารักษาสิว 
    1. ยาปฏิชีวนะชนิดทา ( Antibacterial preparations) : ที่นิยมใช้กันในการทาเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียสิว ได้แก่ กลุ่ม Erytromycin,Clindamycin แนะนำว่าก่อนใช้ ควรล้างหน้าให้สะอาดด้วยน้ำอุ่น ซับให้แห้ง แล้วค่อยทายาให้ทั่วบริเวณที่เป็นสิว วันละ 2 ครั้ง การทาครั้งแรกๆ อาจจะรู้สึกแสบหรืออุ่นบริเวณที่ทา ทิ้งไว้อาการจะหายไปได้เอง ควรทายาทิ้งไว้จนแห้งสนิทจึงค่อยทายารักษาสิวตัวอื่นๆ ไม่ควรหยุดยาเอง แม้อาการสิวจะดีขึ้น ควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะกลุ่มนี้มักจะต้องใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยๆ จากการทากลุ่มนี้ คือ ผิวหนังแห้ง ระคายเคือง การเก็บรักษายากลุ่มนี้ ควรเก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา ไม่ต้องแช่แข็ง 
    2. Benzoyl peroxide( BP) : จัดเป็นครีมทาป้องกันและรักษาสิวที่ดีตัวหนึ่ง ที่ยังไม่มีรายงานการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียสิว คำแนะนำโดยทั่วๆ ไป มักจะให้ทาก่อนล้างหน้า แต่มักจะลืมว่า ก่อนทาครีมตัวนี้ ต้องล้างเครื่องสำอางออกให้หมด และทำผิวหน้าให้สะอาดก่อน อาจจะทาทั่วหน้าหรือทาทิ้งไว้บริเวณที่เป็นสิว ประมาณ 5-15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำเปล่า การทายาครั้งแรกๆ อาจจะรู้สึกแสบหรืออุ่นเล็กน้อย ถ้าทนไม่ไหว อาจจะลดระยะเวลาในการทาทิ้งไว้ เหลือ 5 นาที วันละครั้ง เมื่อสภาพผิวหนังปรับสภาพทนยาได้ดีขึ้น จึงค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาในการทาทิ้งไว้ให้มากขึ้น ซึ่งในบางคนอาจจะทนยาได้นานเป็นชั่วโมง และทาบ่อยขึ้น ( เช้า-เย็น) หลีกเลี่ยงการทายา บริเวณที่ผิวหน้าบอบบาง เช่น รอบดวงตา ริมฝีปาก หรือเนื้อเยี่ออ่อน ระวังยาอย่าให้สัมผัสกับเสื้อผ้า หรือเส้นผม เพราะยาอาจจะกัดให้เกิดรอยด่างได้ กรณีที่ต้องการใช้ยาทาวิตามินเอร่วมด้วย (เพื่อรักษาสิวอุดตัน) ควรทายาห่างกันอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพราะนอกจากจะทำให้ยาออกฤทธิ์ได้น้อยลงแล้ว ยังทำให้ผิวหน้าระคายเคืองได้มากขึ้นได้ 
    3. ยาทากรดวิตามินเอ(Retinoids Preparations) : จัดเป็นกลุ่มยาทาที่ใช้กันบ่อยๆ ในการรักษาสิว โดยเฉพาะกลุ่มสิวอุดตัน ควรใช้เมื่อผิวหน้า แห้งสนิทหลังล้างหน้าประมาณ 20 นาที จะช่วยลดการระคายเคืองลงได้ การทาครั้งแรกๆ อาจจะรู้สึกแสบหรืออุ่นบริเวณที่ทา ควรทายาทั่วใบหน้าในตอนกลางคืน และใช้ครีมกันแดดในช่วงเช้า ไม่แนะนำให้ทาตอนเช้า เพราะตัวยาจะไวต่อรังสียูวี ในสัปดาห์แรกๆ ของใช้ยาทากรดวิตามินเอ อาจจะเกิดอาการสิวเห่อได้มากขึ้น เนื่องจากหัวสิวที่อยู่ใต้ผิวหนังจะถูกดันออกมา ไม่ต้องหยุดทายา ให้ทาต่อไปเรื่อยๆ สิวจะค่อยๆ ฝ่อและหลุดหายไป ระยะเวลาในการเห็นผลจึงต้องใช้เวลานาน 2-3 สัปดาห์ อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยๆ คือ ผิวหนังลอก แดง และแห้ง ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่การแพ้ยา เมื่อผิวหน้าปรับสภาพได้ดีขึ้น อาการเหล่านี้จะลดลง 
    4. ยารับประทานกลุ่มวิตามินเอ(Vitamin A derivatives): ได้แก่ยากลุ่ม Roaccutane,ISOTANE,Acnotin เป็นยารับประทานสำหรับกรณีรักษาสิวที่เป็นรุนแรง ลดหน้ามัน ไม่แนะนำให้ซื้อมาใช้เอง โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ เพราะยาตัวนี้เมื่อจะใช้ ในผู้หญิงต้องคุมกำเนิด เมื่อเริ่มใช้ยาอาจจะทำให้สิวเห่อ และเป็นมากขึ้นได้ ไม่ต้องหยุดยา อาการจะค่อยๆดีขึ้นภายใน 4-8 อาทิตย์ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหรือรุนแรงมากขึ้น ให้หยุดยาและปรึกษาแพทย์ อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยๆ คือ ผิวหน้าจะไวต่อแสง ปากแห้ง คอแห้ง ตาแห้ง (ควรหลีกเลี่ยงในผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์) ผมร่วง (พบได้ร้อยละ 10) ระหว่างใช้ยาตัวนี้ ควรงดดื่มเครื่องดื่มที่ผสมอัลกอฮอล์ เพราะอาจจะทำให้ระดับไขมันในเลือดสูง หรือตับทำงานผิดปกติได้ ควรหมั่นตรวจร่างกาย หรือตรวจเลือด ถ้าต้องทานยาต่อเนื่องเกิน 6 เดือน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่https://www.clinicneo.co.th/detailcolumn.php?grp=3&&col_id=23 
    5. ยาปฏิชีวนะรับประทาน : หรือยาแก้อักเสบที่ใช้รักษาสิว ยากลุ่มนี้ ควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ที่นิยมใช้กันก็ได้แก่ 
    5.1 กลุ่มยา Tetracycline : อาทิเช่น Tetracyclines,Doxycycline มีข้อแนะนำว่าไม่ควรรับประทานช่วงที่ท้องว่าง เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้ และไม่แนะนำให้ทานร่วมกับนมหรือยาลดกรดหรือยาที่มีส่วนผสมของธาตุเหล็ก เพราะจะทำให้การดูดซึมยาลดลง ไม่แนะนำให้ทานร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดลดลง หรือถ้าจำเป็น ควรทานห่างกันประมาณ 2 ชั่วโมง หรือเลือกคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น เช่น ยาฉีดคุมกำเนิดหรือถุงยางอนามัย 
    5.2 กลุ่มยา Cloxacillin : อาทิเช่น Cloxacillin,Dicloxacillin ควรรับประทานยาก่อนอาหารประมาณ ครึ่งชั่วโมง เพราะยาจะดูดซึมได้ดีตอนท้องว่าง ไม่แนะนำให้ทานร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดลดลงเช่นกัน นอกจากนี้อาจจะทำให้ผลการตรวจน้ำตาลในปัสสาวะ(เบาหวาน)ผิดปกติได้ 
    5.3 กลุ่มยา Co-trimoxazole : อาทิเช่น Bactrim หลังรับประทานควรดื่มน้ำตามมากๆ เพื่อป้องกันการเกิดนิ่ว มักจะพบปัญหาแพ้ยากลุ่มนี้ได้บ่อย อาการที่พบได้ คือ เกิดตุ่มน้ำพองใส มีผื่นแพ้ คัน และเจ็บคอ ถ้ามีอาการผิดปกติดังกล่าว ควรหยุดยาทันที และรีบปรึกษาแพทย์ 
    6. ยาทาลอกขุย (Peeling Agents) : ได้แก่กลุ่ม Salicylic acids,AHA,BHA,Sulfur ซึ่งอาจจะมีการใช้ในการรักษาสิวบริเวณอื่นๆ เช่น ลำตัว คอ แขน ขา เพื่อทำให้เกิดการหลุดลอกของสิว ทำให้สิวฝ่อ หรือทำให้หัวสิวเปิดออก แล้วหยุดออกไปเอง เวลาใช้ต้องล้างหน้าและอาบน้ำให้สะอาด (กรณีสิวตามลำตัว) ซับให้แห้ง ทายาบางๆ 1-2 ครั้งต่อวัน โดยไม่ต้องล้างออก ถ้าต้องใช้ยาต้านแบคทีเรียสิว ชนิดน้ำหรือเจลร่วมด้วย แนะนำให้ทาหลังยากลุ่มนี้ ยาอาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองผิว ไม่ต้องหยุดยา อาการจะหายไปได้เอง เมื่อใช้ยาไปซักระยะเวลาหนึ่ง ยากลุ่มนี้เมื่อใช้ไปนานๆ มักจะการเปลี่ยนสภาพ เช่น สีอาจจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีน้ำตาล แสดงว่ายาเสื่อมสภาพ ให้ทิ้งไปไม่ต้องใช้ต่อ
  • โปรดติดตามตอนที่ 2 สำหรับคำแนะนำในการใช้ยาสำหรับโรคผิวหนังกลุ่มอื่นๆ 
    เรียบเรียงและค้นคว้าโดย นพ.จรัสพล รินทระ..................ข้อมูลล่าสุด..........15 August,2006 
    เอกสารอ้างอิง : คู่มือการจ่ายยาของเภสัชกร พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล(ประเทศไทย);2543 
    เอกสารอ้างอิง : คู่มือความรู้เบื้องต้น เรื่อง การคงสภาพของยาและแนวทางการเก็บรักษายา;สำนักงานคณะกรรมอาหารและยา ;2542

ที่มา : https://www.clinicneo.co.th/detailcolumn.php?grp=3&sdata=&col_id=305

อัพเดทล่าสุด