การดูแลตนเอง ของโรคเอสแอลอี


1,464 ผู้ชม


การดูแลตนเอง ของโรคเอสแอลอี ป่วยเป็นโรคเอสแอลอี โรคเอสแอลอี อาการ

เอสแอลอี โรคภูมิต้านตนเอง

เอสแอลอีเป็นชื่อโรคที่เรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษ (SLE) ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการอักเสบของเนื้อเยื่อแทบทุกส่วนของร่างกาย อันเป็นผลมาจากร่างกายมีการสร้างสารภูมิต้านทานต่อเนื้อเยื่อต่างๆ ผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงเฉียบพลัน หรือเรื้อรังก็ได้ จำเป็นต้องรับการรักษาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

- ชื่อภาษาไทย
เอสแอลอี

- ชื่อภาษาอังกฤษ
SLE, Systemic lupus erythematosus

- สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด สันนิษฐานว่าเป็นผลมาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีการตอบสนองอย่างผิดปกติต่อเชื้อโรคหรือสารเคมีบางอย่าง ทำให้มีการสร้างสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี)ต่อเนื้อเยื่อต่างๆ จัดเป็นโรคภูมิต้านตนเอง (autoimmune) ชนิดหนึ่ง
     บางครั้งอาจพบมีสาเหตุกระตุ้นให้อาการกำเริบ เช่น ยาบางชนิด (เช่น ซัลฟา ไฮดราลาซีน เมทิลโดพา ไอเอ็นเอช คลอร์โพรมาซีน เฟนิโทอิน ไทโอยูราซิล) การถูกแดด การกระทบกระเทือนทางจิตใจ ภาวะตั้งครรภ์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังสันนิษฐานว่า อาจเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศหญิง (เนื่องจากพบมากในหญิงวัยหลังมีประจำเดือนและก่อนวัยหมดประจำเดือน) และกรรมพันธุ์ (พบมากในผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้)
      อาการที่พบได้บ่อยคือ มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดเมื่อยตามตัว ปวดและบวมตามข้อ ต่างๆ ซึ่งโดยมากจะเป็นตามข้อเล็กๆ (เช่น ข้อนิ้วมือ นิ้วเท้า) ทั้ง 2 ข้าง ทำให้กำมือลำบากอาการเหล่านี้จะค่อยเป็นค่อยไป เรื้อรังเป็นแรมเดือน
นอกจากนี้ มักพบผื่นหรือฝ้าแดงขึ้นที่ข้างจมูก ทั้ง 2 ข้าง มีลักษณะคล้ายปีกผีเสื้อ เรียกว่า ผื่นปีก ผีเสื้อ (butterfly rash)

บางรายอาจมีอาการแพ้แดด กล่าวคือ เวลาไปถูกแดด ผิวหนังจะเกิดผื่นแดง และผื่นปีกผีเสื้อที่ข้างจมูกจะเห็นชัดเจนขึ้น อาการไข้และปวดข้อก็จะเป็นรุนแรงขึ้น
บางรายอาจมีจุดแดง (จุดเลือดออก) หรือมีประจำเดือนออกมากกว่าปกติ ซึ่งอาจเป็นอาการระยะแรกของโรคนี้ก่อนมีอาการอื่นๆ บางครั้งแพทย์อาจวินิจฉัยว่าเป็นโรคไอทีพี (ITP ซึ่งเป็นภาวะเลือดออกง่ายชนิดหนึ่ง)
บางรายอาจมีอาการผมร่วงมาก มีจ้ำแดงขึ้นที่ฝ่ามือ นิ้วมือนิ้วเท้าซีดขาวและเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำเวลาถูกความเย็น หรือมีภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก
ในรายที่เป็นรุนแรง อาจมีอาการบวมทั้งตัว (เนื่อง จากไตอักเสบ) หายใจหอบ (เนื่องจากปอดอักเสบ ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด หรือหัวใจวาย) ชีพจรเต้นเร็วหรือเต้นไม่สม่ำเสมอ (เนื่องจากหัวใจอักเสบ)
     ในรายที่มีอาการอักเสบของหลอดเลือดในสมอง อาจทำให้มีอาการผิดปกติทางสมอง เช่น เสียสติ ซึม เพ้อ ประสาทหลอน แขนขาอ่อนแรง ตาเหล่ ชัก หมดสติ และอาจเสียชีวิตภายใน 3-4 สัปดาห์ผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการกำเริบ เป็นๆ หายๆ เรื้อรังเป็นแรมปี

- การแยกโรคเนื่องจากโรคนี้มีอาการแสดงได้หลากหลาย จึงอาจมีอาการคล้ายโรคอื่นๆ ได้มากมาย เช่น
♦ อาการไข้ (ตัวร้อน) ปวดเมื่อยระยะแรกอาจคล้ายไข้หวัดใหญ่ (ระยะมีไข้ไม่เกิน 7 วัน) เมื่อเป็นเรื้อรังเป็นสัปดาห์ๆ หรือเป็นแรมเดือน ก็ต้องแยกจากโรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น เอดส์ วัณโรค มะเร็ง เป็นต้น
♦ อาการปวดข้อนิ้วมือนิ้วเท้า ก็ต้องแยกจากโรคข้อรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis)
♦ อาการมีจุดแดงหรือโลหิตจาง ก็ต้องแยกจากโรคเลือดชนิดต่างๆ
♦ อาการบวม ก็ต้องแยกจากโรคไตอักเสบชนิดต่างๆ
♦ อาการหายใจหอบ ก็ต้องแยกจากปอดอักเสบ
♦ อาการทางสมอง ก็ต้องแยกจากโรคสมองอักเสบ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มาลาเรียขึ้นสมอง

- การวินิจฉัยแพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ เช่น ตรวจเลือด พบแอนตินิวเคลียร์แฟกเตอร์ (antinuclear factor) และแอลอีเซลล์ (LE cell) ตรวจปัสสาวะอาจพบสารไข่ขาวและเม็ดเลือดแดงนอกจากนี้ อาจต้องทำการตรวจเอกซเรย์ คลื่นหัวใจและตรวจพิเศษอื่นๆ

- การดูแลตนเอง
เมื่อมีอาการไข้เกิน 7 วัน ปวดตามข้อนิ้วมือนิ้วเท้าทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน พบมีผื่นปีกผีเสื้อที่ข้างจมูก ผมร่วง บวม หายใจหอบ ชีพจรเต้นเร็วหรือเต้นไม่สม่ำเสมอ มีจุดแดงขึ้นตามตัว ซีด (โลหิตจาง) อาการผิดปกติทางสมอง หรืออาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคเอสแอลอี ควรปฏิบัติ ดังนี้
♦ รับการรักษาจากแพทย์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งอาจต้องกินยาติดต่อกันเป็นแรมปี หรือหลายๆ ปี
♦ หลังจากสามารถควบคุมอาการจนทุเลา (สงบ) แล้ว ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้เช่นปกติ ควรออกกำลังกายแต่พอควร ทำจิตใจให้สบายและหาทางผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีการต่างๆ (เช่น ทำสมาธิ สวดมนต์ เล่นโยคะ รำมวยจีน ฝึกชี่กง เป็นต้น)
♦ หลีกเลี่ยงการออกกลางแดด เพราะอาจทำให้อาการกำเริบได้ ถ้าจำเป็นต้องออกกลางแดด ควรกาง ร่ม ใส่หมวก ใส่เสื้อแขนยาว 
♦เนื่องจากผู้ป่วยมักมีภูมิคุ้มกันต่ำ ควรพยายาม หลีกเลี่ยงการติดเชื้อ เช่น อย่ากินอาหารหรือน้ำดื่มที่ไม่สะอาด อย่าเข้าใกล้คนที่ไม่สบาย อย่าเข้าไปในบริเวณที่มีคนอยู่กันแออัด เป็นต้น
♦ ทุกครั้งที่รู้สึกไม่สบายหรือมีอาการผิดสังเกต ควรรีบไปพบแพทย์ที่รักษาก่อนนัด
การรักษา
ในรายที่เป็นไม่รุนแรง (เช่น มีเพียงไข้ ปวดข้อ ผื่นแดงที่หน้า) แพทย์อาจเริ่มให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ (ยาที่ใช้รักษาโรคข้ออักเสบ) ถ้าไม่ได้ผลอาจให้ไฮดรอกซีคลอโรควีน (hydroxychloroquine) เพื่อช่วยลดอาการเหล่านี้
     ในรายที่เป็นรุนแรง แพทย์จะให้สตีรอยด์ (เช่น เพร็ดนิโซโลน) ในขนาดสูงติดต่อเป็นสัปดาห์หรือหลายเดือน เพื่อลดการอักเสบของอวัยวะต่างๆ เมื่อดีขึ้นจึงค่อยๆ ลดขนาดยาลง และให้ในขนาดต่ำเพื่อควบคุมอาการไปเรื่อยๆ อาจนานเป็นแรมปีหรือจนกว่าจะเห็นว่าปลอดภัย
      ถ้าให้ยาดังกล่าวแล้วไม่ได้ผล แพทย์จะให้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ไซโคลฟอสฟาไมด์ (cyclophasphamide) อะซาไทโอพรีน (azathioprine) เป็นต้น
ในรายที่มีอาการรุนแรง เช่น บวม หายใจหอบ มีอาการผิดปกติทางสมอง เป็นต้น จำเป็นต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล จนกว่าจะปลอดภัย จึงให้ผู้ป่วยกลับบ้านและนัดมาตรวจกับแพทย์เป็นระยะๆ
- ภาวะแทรกซ้อน
ที่สำคัญคือ ไตอักเสบ ปอดอักเสบ หัวใจอักเสบ หัวใจวาย ไตวาย ความผิดปกติของสมองและระบบประสาท ภาวะติดเชื้อร้ายแรง เป็นต้น
- การดำเนินโรคผลการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และความแข็งแรงของตัวผู้ป่วย บางรายอาจเกิดอาการรุนแรง จนมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเฉียบพลัน เสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่นานในรายที่อาการไม่รุนแรง หลังการรักษาอาการมักจะสงบไปได้ แต่ก็อาจมีอาการกำเริบเป็นครั้งคราว ซึ่งต้องติดตามรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่องโดยทั่วไปถ้าผู้ป่วยมีชีวิตรอดจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆได้เกิน 5 ปี โรคก็มักจะไม่กำเริบรุนแรงและค่อยๆสงบไปได้ นานๆครั้งอาจมีอาการกำเริบสักทีแต่จะไม่รุนแรงและสามารถมีชีวิตเยี่ยงคนปกติได้
- การป้องกันเนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ จึงยังไม่ทราบการป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ส่วนในรายที่เป็นโรคนี้แล้ว ควรหาทางป้องกันไม่ให้โรคกำเริบ หรือเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยหลีกเลี่ยงเหตุกำเริบ เช่น ความเครียด การออกกลางแดด การติดเชื้อ เป็นต้น (ดูในหัวข้อ "การดูแลตนเอง")

ความชุก

โรคนี้พบได้ประปรายทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ พบมากในช่วงอายุ 20-45 ปี และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 10 เท่า


 
เอส แอล อี...โรคนี้ต้องดูแลตัวเองอย่างไร

 
   
   
   

     
       
     
     
       
     
     
       
     
     
       
     
     
       
     
     
       
     
     
       
     
     
       
     
     
       
     
     
       
     
     
       
     
     
       
     
     
     
       
     
     
       
     
     
       
     
   
 
       
     



      ปัจจุบัน
  โรค เอส แอล อี เป็นที่รู้จักมากขึ้น หลายคนที่เจ็บป่วยด้วยโรคนี้ 
จึงอยากรู้ว่ายาที่ใช้รักษามีผลกระทบอย่างไร และจะมีวิธีการดูแลตัวเองอย่าง
ไรได้บ้าง ชีวจิตไม่รอช้า ไปหาคำตอบจากคุณหมอมาเล่าให้ฟังค่ะ


     

รู้จักเอส แอล อี


     

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสุมาลี นิมมานนิตย์
ภาควิชาอายุรศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า สาเหตุการเกิดโรคเอส แอล อี 
ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด  แต่จากการศึกษาพบว่า
ปัจจัยทั้งทางด้านพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม
มีส่วนและบทบาทร่วมกันในการก่อโรค “  ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุ
ที่ทำให้เกิดความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน  แต่พบว่าเพศหญิงวัยเจริญพันธุ์
เป็นโรคนี้มากกว่าเพศชายถึง 9-13 เท่า  ในประเทศไทยพบได้ค่อนข้างบ่อย
และมักมีความรุนแรงมาก  โดยเฉพาะเมื่อมีอาการทางไตร่วมด้วย”


     

เอส แอล อี (SLE) ย่อมาจากคำว่า Systemic lupus erythematosus บางคนอาจรู้จักในคำว่า โรคลูปัส เป็นโรคในกลุ่ม ออโตอิมมูน (autoimmune disease) โรคหนึ่ง


     

โรคออโตอิมมูน
คือโรคที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน  ที่โดยปกติทำหน้าที่ต่อต้าน
และทำลายสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย 
ผ่านกลไกของเม็ดเลือดขาว แอนติบอดี การอักเสบ 
เป็นต้น แต่สิ่งที่ผิดปกติคือ  ร่างกายกลับให้ระบบภูมิคุ้มกัน
ต่อต้านเนื้อเยื่อและเซลล์ต่างๆ  ของร่างกายตนเอง ในระบบอวัยวะต่างๆ
ซึ่งต่างจากคำว่า "โรคภูมิแพ้"  ซึ่งหมายถึง ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย 
มีการตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมไวเกินกว่าปกติ เป็นผลให้เกิดการอักเสบขึ้น 
เช่น แพ้อากาศ หอบหืด เป็นต้น 
แต่ไม่มีการต่อต้านเนื้อเยื่อหรือเซลล์ของตนเอง


     

อาการชวนสงสัยโรค เอส แอล อี


     

โรคเอส แอล อี สามารถแสดงอาการได้หลายระบบ เช่น
มีผื่น ผมร่วง  ปวดข้อ แผลในปาก ซีดบวม ฯลฯสำหรับการวินิจฉัยโรคนี้ 
อาศัยเกณฑ์ของสมาคมโรคข้อแห่งสหรัฐอเมริกา (American Rheumatic 
Association) ผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น เอส แอล อี เมื่อมีอาการหรืออาการแสดง อย่างน้อย 4 ข้อ จาก 9 ข้อต่อไปนี้


     
       
         
         
         
       
       
         
         
         
       
       
         
         
         
       
       
         
         
         
       
       
         
         
         
       
       
         
         
         
       
       
         
         
         
       
       
         
         
         
       
       
         
         
         
       
     
 
ผื่นแดงที่ใบหน้า บริเวณโหนกแก้ม และสันจมูก ลักษณะคล้ายผีเสื้อ
 
ข้ออักเสบชนิดหลายข้อ และมักเป็นทั้ง 2 ข้างเหมือนๆ กัน
 
แผลในปาก
 
อาการแพ้แสง
 
การอักเสบของเยื่อบุ เช่น เยื่อหุ้มปอดอักเสบ เยื้อหุ้มหัวใจอักเสบ
 
อาการแสดงในระบบเลือด (เช่น ซีดจากเม็ดเลือดแดงแตก เม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ)
 
อาการแสดงในระบบประสาท (เช่น ชัก ซึม ซึ่งอธิบายจากสาเหตุอื่นมิได้)
 
อาการแสดงในระบบไต (เช่น มีความผิดปกติของปัสสาวะ มีโปรตีนในปัสสาวะ)
 
การตรวจเลือดหา Antinuclear antibody ให้ผลบวก

     

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การวินิจฉัยโรค เอส แอล อี
นี้มีการแสดงออกได้ในหลายระบบ แต่ละระบบอาจมีความรุนแรงน้อยมาก 
ไม่มีอาการ จนถึงความรุนแรงมากถึงชีวิตได้


     

ผลกระทบจากยารักษา SLE


     

แม้ว่าในปัจจุบัน จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง
ของโรค เอส แอล อี  แต่ความก้าวหน้าทางการแพทย์ ทำให้ผู้ป่วย เอส แอล อี 
สามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติ เช่นเดียวกับคนทั่วไป 
โดยมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงเหมือนปกติ ยาที่นำมาใช้ในการรักษา เอส แอล อี 
ที่สำคัญมี 2 ชนิดได้แก่


     
       
         
         
         
       
       
         
         
         
       
     
 
ยาสเตียรอยด์
เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย 
มิให้ทำการต่อต้านเนื้อเยื่อต่างๆ  และลดการอักเสบ
อันเป็นผลจากระบบภูมิคุ้มกันได้ ยานี้สามารถทำให้โรค เอส  แอล อี
สงบได้อย่างรวดเร็ว และได้ผลดี แต่มีผลข้างเคียงมหาศาล ได้แก่  อ้วนขึ้น 
หน้ากลม ผิวหนังบางและแตกง่าย กระดูกผุ  
กระเพาะอาหารอักเสบและแผลในกระเพาะอาหาร  เบาหวาน 
เสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆ ได้ง่าย ยานี้จึงใช้ในระยะสั้นๆ 
เพื่อควบคุมโรคให้เข้าสู่ภาวะสงบ และลดขนาดยาให้เหลือน้อยที่สุด 
เท่าที่จำเป็นเท่านั้น
 
ยาอีกประเภทหนึ่ง ได้แก่ ยาที่ออกฤทธิ์ช้า
มีคุณสมบัติทำให้โรคเข้าสู่ภาวะสงบได้ ยาออกฤทธิ์ช้า แต่ออกฤทธิ์ได้นาน 
ยามีผลข้างเคียงน้อยกว่า และไม่รุนแรงเท่า สามารถใช้ยาได้เป็นเวลานาน 
โดยเสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่น้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับ สเตียรอยด์

     

การปฏิบัติตวของผู้ป่วย เอส แอล อี


     

ส่วนสำคัญอีกอย่างที่ไม่แพ้การใช้ยา ได้แก่ 
การปฏิบัติตัวของผู้ป่วย ซึ่งมีความจำเป็น เพราะโรคนี้เป็นเรื้อรัง 
และยังไม่มียาที่ใช้รักษาได้หายขาดจริงๆ การรักษาต่อเนื่อง 
และติดตามการรักษาสม่ำเสมอ 
จึงมีความสำคัญยิ่งยวด และต้องปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง ดังนี้


     
       
         
         
         
       
       
         
         
         
       
       
         
         
         
       
       
         
         
         
       
     
 
รับประทานยาสม่ำเสมอ ตามแพทย์สั่ง เนื่องจากสาเหตุสำคัญที่ทำให้โรคกำเริบอย่างหนึ่ง ได้แก่ การขาดยา
 
ระวังอาการไม่สบาย
หรือการติดเชื้อในร่างกาย ทั้งนี้เพราะการติดเชื้อในร่างกาย ไม่ว่าระบบใด
ทำให้โรคกำเริบขึ้นได้ นอกจากนี้ ยาสเตียรอยด์ยังมีผลทำให้ติดเชื้อได้ง่าย
  ถ้าไม่รีบรักษา จะทำให้ความรุนแรงของการติดเชื้อมากกว่าคนธรรมดามาก
 
หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นอื่น ที่อาจทำให้โรคกำเริบ เช่น ยาบางชนิด น้ำยาย้อมผม ความเครียด การถูกแดด จึงไม่ควรตากแดดนาน ไม่ซื้อยากินเอง ทำจิตใจให้แจ่มใส
 
ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของระบบร่างกายต่างๆ จำเป็นต้องได้รับการรักษาโรคในระบบนั้นๆ อย่างดี เช่น ไตอักเสบ เม็ดเลือดแดงแตก เกล็ดเลือดต่ำ เป็นต้น  

     

โรคเอส แอล อี ถ้าไม่รักษาหรือรักษาไม่ถูกวิธี
จะทำให้ไตอักเสบ  ไตวาย เลือดออกในทางเดินอาหาร
หรือติดเชื้อรุนแรงในกระแสเลือด  ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต   ดังนั้น
ถ้าสังเกตเห็นความผิดปรกติดังข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์ค่ะ

Link 

https://www.perfectwomaninstitute.com

https://www.doctor.or.th

https://www.naturalmind.co.th

อัพเดทล่าสุด