โรคลําไส้แปรปรวน


3,575 ผู้ชม


โรคลําไส้แปรปรวน โรคลําไส้แปรปรวน การรักษา โรคลําไส้แปรปรวน ibs

ลำไส้แปรปรวน โรคยอดฮิตติดชาร์ทคนเมือง


โรคลำไส้แปรปรวน IBS

ลำไส้แปรปรวน โรคยอดฮิตติดชาร์ทคนเมือง (สุขภาพดี)

เคยรู้สึกเหมือนมีลมอยู่ในท้อง ต้องเรอหรือผายลมบ่อยๆ มีอาการท้องเสียสลับท้องผูกกันบ้างหรือเปล่าคะ อาการมากมายจนสับสนไปหมดไม่รู้ว่าเป็นอะไรกันแน่ ดังนั้นมาหาคำตอบเพื่อไขข้อข้องใจ พร้อมกับรับมือกับอาการแปรปรวนเหล่านี้กันค่ะ

 โรคลำไส้แปรปรวน คืออะไร

          นพ.ณัฏฐากร วิริยานุภาพ แพทย์อายุรกรรมโรคระบบทางเดินอาหารและตับ ได้ให้ความรู้ว่า โรคลำไส้แปรปรวน (IBS) คือ โรคของลำไส้ที่บีบตัวผิดปกติ โดยตรวจไม่พบก้อนเนื้องอกด้วยการส่องกล้องตรวจลำไส้ จึงลงความเห็นว่าเป็น โรคลำไส้แปรปรวน ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยในระบบทางเดินอาหาร และพบมากในคนวัยทำงานที่มีอายุ 30-50 ปี ซึ่งในปัจจุบันขยายผลไปยังกลุ่มวัยรุ่นเพิ่มขึ้น

 เช็คอาการเตือน โรคลำไส้แปรปรวน จากร่างกายด้วยตัวเอง
 
         การสังเกตความผิดปกติในเรื่องระบบขับถ่ายของตัวเราเอง เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้รู้ว่าระบบภายในร่างกายมีความผิดปกติหรือเปล่า อย่าง โรคลำไส้แปรปรวน จะมีสัญญาณเตือนออกมาในรูปแบบของระบบการขับถ่ายที่ผิดปกติ และมักมีอาการเด่นชัด ดังนี้
          มีอาการปวดท้อง โดยอาจจะปวดบริเวณกลางท้อง หรือปวดบริเวณท้องน้อย แต่โดยทั่วไปจะปวดท้องน้อยด้านซ้าย ลักษณะอาการปวดมักจะปวดแบบเกร็ง
          มีอาการแน่นท้อง ท้องอืด
          มีอาการท้องโตขึ้น เหมือนมีลมอยู่ในท้อง อาจมีอาการเรอหรือผายลมบ่อย
          มีอาการถ่ายผิดปกติ เช่น ท้องผูก ท้องเสีย หรืออาจมีท้องผูกสลับท้องเสีย บางรายอาจมีความรู้สึกเหมือนถ่ายไม่สุด
          การขับถ่ายอุจจาระมีลักษณะเหลว หรือเป็นมูกร่วมด้วย แต่จะไม่มีเลือด อาการมักจะเป็นๆ หายๆ มากน้อยสลับกันและมีอาการเกิน 3 เดือน

 รู้ทันสาเหตุ ห่างไกล โรคลำไส้แปรปรวน

          การป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บอย่างหนึ่งคือ การรู้เท่าทันต้นตอสาเหตุของโรค หากเรารู้จุดเริ่มต้นของโรคนี้ว่าเกิดจากอะไร ก็จะได้ไม่ต้องเผชิญกับเส้นทางเดียวกับโรคนี้ และเป็นหนทางที่จะทำให้รับมือกับโรคภัยที่จะเกิดขึ้นกับตัวเราเองได้ดีที่สุด ถึงแม้ปัจจุบันจะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนของการเกิดโรค แต่จากการศึกษาพบว่าปัจจัยที่เป็นสาเหตุของโรคนี้มี 3 อย่างได้แก่

          1.เกิดจากการบีบตัวของลำไส้ผิดปกติ เป็นผลมาจากการหลั่งสารหรือฮอร์โมนที่ผิดปกติบางอย่างในผนังลำไส้ ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องผูก หรือท้องเสียขึ้นได้

          2.เกิดจากระบบประสาทที่ผนังลำไส้ไวต่อสิ่งเร้า หรือตัวกระตุ้นมากผิดปกติ ตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติ ได้แก่ อาหารที่มีรสเผ็ด เปรี้ยว กาแฟ แอลกอฮอล์ ช็อกโกแลต รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ได้แก่ ความเครียด ความวิตกกังวลเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดการบีบตัวของลำไส้ผิดปกติ ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องผูกหรือท้องเสียได้

          3.เกิดจากความผิดปกติในการควบคุมการทำงานของลำไส้ โดยปกติแล้วประสาทรับความรู้สึกที่ผนังลำไส้ ระบบกล้ามเนื้อของลำไส้ และสมอง จะทำงานสอดคล้องกัน แต่หากสารที่ควบคุมการทำงานของลำไส้เกิดความผิดปกติก็จะส่งผลให้การทำงานของลำไส้แปรปรวนได้

 2 แนวทางรับมือ โรคลำไส้แปรปรวน

          หากใครที่กำลังเผชิญกับสภาวะ ลำไส้แปรปรวน ไม่ควรกังวล แต่จะต้องกล้าเผชิญพร้อมรับมือ และจัดการกับโรคที่กำลังสร้างความรำคาญให้ชีวิตอยู่นั้นให้ได้ ด้วยการรักษาที่ถูกต้อง และหมั่นดูแลร่างกาย จิตใจให้ผ่อนคลายอยู่เสมอ โดยวิธีการที่จะควบคุมกับโรคนี้มีดังนี้

          วิธีแรกคือ การกินยา (ตามคำแนะนำของแพทย์) โดยยาที่ใช้รักษาจะเป็นยาที่รักษาตามอาการ เพราะยังไม่มียาชนิดใดที่รักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ เช่น กลุ่มคนที่มีอาการปวดท้อง อาจจะกินยาที่ช่วยคลายการบีบตัวของลำไส้ ลดอาการปวดเกร็ง กลุ่มคนที่มีอาการท้องอืด มีลมในท้อง อาจจะกินยาลดแก๊สในกระเพาะ หรือยาขับลม ส่วนกลุ่มคนที่มีอาการท้องผูก อาจจะกินยาที่ช่วยเพิ่มไฟเบอร์ หรือยาระบายอ่อนๆ ซึ่งการรักษาจะต้องรักษาตามอาการเพราะยังไม่มียาชนิดใดที่สามารถรักษาครอบคลุมอาการทุกอย่างได้

          นอกจากการรักษาด้วยยาแล้ว วิธีที่สำคัญอีกอย่างที่จะช่วยป้องกันการเกิดโรคคือ การปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง เพราะโรคนี้มีโอกาสเป็นๆ หายๆ และส่วนใหญ่จะมีอาการที่เป็นมานานแล้ว ไม่ได้เป็นแค่ระยะเวลาสั้นๆ ดังนั้นคนที่มีอาการส่วนใหญ่มักจะพฤติกรรมการกินที่ไม่ถูกต้อง

 ตามใจปาก โรคลำไส้แปรปรวน ถามหา

          เคยได้ยินกันบ้างไหมว่า กินอะไรร่างกายก็ได้อย่างนั้น ดังนั้นการปฏิบัติตัวในเรื่องการกินจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด หากกินผิดไม่ใช่แค่โรคลำไส้แปรปรวนเท่านั้น ยังก่อให้เกิดโรคร้ายอื่นๆ ตามมาเพราะการกินนั่นเอง

 แยกแยะอาการยาก รบกวนการดำเนินชีวิต

          ลักษณะอาการของ โรคลำไส้แปรปรวน จะคล้ายคลึงกับอาการท้องเสียจึงมักแยกแยะลำบาก ทำให้บางครั้งเกิดการปล่อยปละละเลย ไม่ไปพบแพทย์เพราะคิดว่าท้องเสียกินยาเอง นอนพักผ่อนเดี๋ยวก็หาย แต่ผลกลับกัน บางรายอาจจะมีอาการเป็นๆ หายๆ และเป็นมานาน ทำให้สร้างความรำคาญและทุกข์ทรมานใจจนเกิดความวิตกกังวลว่า ทำไมไม่หายสักที ผลที่ตามมาคือเป็นโรคเครียด ซึ่งโรคเครียดนี่แหละที่เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ โรคลำไส้แปรปรวนกำเริบขึ้นมาอีก

 ความเครียด ตัวอันตรายทำให้เกิดโรคลำไส้แปรปรวน

          ความเครียดเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลทำให้ โรคลำไส้แปรปรวน แสดงอาการรุนแรงมากขึ้น เพราะเมื่อเครียดสมองจะมีการหลั่งสารบางอย่างออกมาส่งผลให้ ลำไส้แปรปรวน ยิ่งในยุคปัจจุบัน ทั้งสภาพเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมยังเป็นตัวกระตุ้นให้คนเกิดความเครียดมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีชีวิตประจำวันที่เครียด ทำงานดึก พักผ่อนน้อย วันหนึ่งนอนไม่กี่ชั่วโมง และใช้สมองในการคิดการทำงานค่อนข้างมาก ยิ่งถ้าเป็นคนที่มีบุคลิกค่อนข้างขี้โกรธ หงุดหงิดง่าย และไม่ได้ออกกำลังกายจะเกิดโรคลำไส้แปรปรวนได้ง่ายมากขึ้น

          นอกจากนี้จากสถิติแล้วคนที่มีอาการเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ รักษาไม่หายสักที มักพบว่าต้นเหตุลำดับต้นๆ ที่ทำให้เกิดโรคของเขามาจากความเครียดด้วยกันทั้งนั้น ยิ่งรักษาไม่หายก็ยิ่งเพิ่มความกังวลกลัวว่าจะเป็นอย่างอื่นร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง ซึ่งต้องบอกไว้เลยว่าโดยธรรมชาติของโรคนี้ไม่เปลี่ยนไปเป็นมะเร็ง ดังนั้นหากพบอาการของโรคเกิดขึ้นกับตนเองแนะนำว่าควรจะมาพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจและรักษาให้เหมาะสมต่อไป

 นักบัญชี หรือทำงานด้านการเงินเสี่ยงเกิด โรคลำไส้แปรปรวน

          ในยุคภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ทำให้คนเกิดความเครียดเพิ่มมากขึ้น และคนไข้ที่มาพบแพทย์ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ทำงานในเรื่องของการเงิน เช่น นักบัญชี ทำงานธนาคาร หรือกลุ่มที่รับผิดชอบเรื่องเงิน อาจเพราะต้องคอยแบกรับและต้องรับผิดชอบเรื่องเงิน จึงทำให้เกิดความเครียดได้ง่าย ดังนั้นในการรักษาจะทำการแนะนำคนไข้ว่าต้องมีการแบ่งเวลาในการทำงานและพักผ่อนให้เพียงพอ

 ทำไมถึงพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 

          โรคลำไส้แปรปรวน มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ในอัตราส่วนประมาณ 2:1 ซึ่งอาจเป็นเพราะว่า ผู้หญิงมีความวิตกกังวลสูงกว่าผู้ชาย เพราะว่าโรคนี้จะมีความเกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความเครียด ความวิตกกังวลอารมณ์ ผู้หญิงจะไวต่อสิ่งแวดล้อม ต่อสิ่งเร้าที่เข้ามา ผู้หญิงจะเครียดมากอาจจะเก็บอารมณ์ไว้กับตัวเอง ไม่เล่าให้ใครฟัง ก็เกิดเป็นภาวะเครียดสะสม ทำให้คนกลุ่มนี้มีโอกาสเป็นโรคลำไส้แปรปรวนมากกว่า

 วิธีเอาชนะความเครียด

          สิ่งที่เข้ามาช่วยบรรเทาความเครียดอีกหนึ่งอย่างคือ การนั่งสมาธิ การรู้เท่าทันอารมณ์ เป็นเรื่องของสติ ของจิตใจ เพราะถ้าเรารู้เท่าทันอารมณ์ของเรา ความเครียดทั้งหลายก็จะเบาลง หยุดลงแค่นั้น ไม่ปล่อยให้มันดำเนินต่อ ซึ่งเป็นวิธีการที่จะช่วยลดอาการต่างๆ ลงได้ นอกจากนี้ควรออกกำลังกายจะช่วยทำให้ร่างกายได้มีการพักผ่อน ผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่ตึงเครียด ส่งผลให้จิตใจผ่อนคลายตามไปด้วย

          เมื่อรู้ต้นสายปลายเหตุของการเกิดโรคลำไส้แปรปรวน และพร้อมรับมือกับโรคร้ายที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเราแล้ว รับรองว่าโรคจะหายไปโดยเร็ว และไม่กลับมาสร้างความรำคาญให้กับชีวิตตราอีก

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

อัพเดทล่าสุด