หลักฐานทางประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา ตัวอย่างหลักฐานทางประวัติศาสตร์สากล หลักฐานทางประวัติศาสตร์สากลสมัยโบราณ


หลักฐานทางประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา ตัวอย่างหลักฐานทางประวัติศาสตร์สากล หลักฐานทางประวัติศาสตร์สากลสมัยโบราณ

 

 

ตัวอย่างการใช้เวลา ช่วงเวลา และยุคสมัยที่ปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทย

ยุคสมัยทางโบราณคดี

ความสนใจใคร่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับกำเนิด และความเป็นมาของบรรพบุรุษแห่งเผ่าพันธุ์ของตนนั้นเป็นสำนึกสากลของมนุษยชาติ ที่ทำให้เกิดแนวทางการศึกษา และอธิบายวิวัฒนาการของมนุษย์ในการสร้างสรรค์ศิลปะการดำรงชีวิต ผ่านวิทยาการที่เรียกกันว่า “โบราณคดี” ซึ่งเป็นทั้งศาสตร์(Science) และศิลป์(Art) นักโบราณคดีจะต้องดำเนินงานตามระเบียบวิธีการวิเคราะห์วิจัยอย่างเคร่งครัด และละเอียดอ่อนในการแปลความหมายหลักฐานเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจว่าโบราณวัตถุ สถานที่พบมีอายุเท่าไร และมีความหมายเกี่ยวข้องกับมนุษยชาติอย่างไรซึ่งเป็นงานที่ยากลำบากที่สุดในการศึกษาทางโบราณคดี จึงจำเป็นต้องมีการแบ่งแยกพัฒนาการทางสังคมหรือการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมที่ปรากฏอยู่ออกเป็นยุคสมัยต่างๆ โดยการเปรียบเทียบลักษณะความเหมือนและความแตกต่างของสังคมและวัฒนธรรมเหล่านั้นซึ่งความรู้ความเข้าใจที่ได้สามารถนำมาอธิบายได้ว่า พัฒนาการหรือการเปลี่ยนแปลงนั้นมีลำดับ-ขั้นตอนอย่างไรการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันบ่งชี้ชัดว่าพื้นที่บริเวณสยามประเทศมีมนุษย์อยู่อาศัยมาโดยตลอด นับตั้งแต่หลายล้านปีมาแล้วจนถึงปัจจุบันมีพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมขึ้นในช่วงกาลเวลาต่างๆ ซึ่งมีเอกลักษณ์รูปแบบเฉพาะสามารถจัดจำแนกยุคสมัยได้ดังต่อไปนี้·

ยุคก่อนประวัติศาสตร์

ก่อนประวัติศาสตร์ (Prehistoric) คือ เรื่องราวของชุมชนหนึ่งชุมชใดในสมัยก่อนที่ชุมชนนั้นจะมีลายลักษณ์อักษรขึ้นใช้ บรรพบุรุษของมนุษย์ในโลกนั้นเริ่มปรากฏขึ้นในช่วงเวลา ๒.๕ ล้านปีมาแล้ว และสืบเผ่าพันธุ์มาจนปัจจุบัน ดังนั้นเรื่องราวยุคก่อนประวัติศาสตร์อาจกล่าวได้ว่า คือ เรื่องของมนุษย์ตั้งแต่ราว ๒.๕ ล้านปีมาแล้ว จนถึงระยะเริ่มต้นของยุคประวัติศาสตร์พื้นที่ในส่วนต่างๆ ของโลกเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ในระยะเวลาแตกต่างกันกล่าวคือใขณะที่พื้นที่แถบหนึ่งผู้คนในที่นั้นมีลายลักษณ์อักษรใช้สำหรับบันทึกเรื่องราวแล้ว แต่ในอีกพื้นที่หนึ่งในระยะเวลาเดียวกันผู้คนยังไม่มีการจดบันทึก เพราะยังไม่มีการคิดลายลักษณ์อักษรขึ้นใช้ในชุมชน พัฒนาการของชุมชนในแต่ละพื้นที่จึงแตกต่างกัน การจำแนกช่วงลำดับอายุยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยนั้น เนื่องจากมีข้อแตกต่างในเรื่องแนวความคิดและเงื่อนไขนักโบราณคดีจึงได้แบ่งอายุยุคก่อนประวัติศาสตร์ออกเป็น ๓ แนวทาง คือ

1.การกำหนดอายุโดยการใช้พัฒนาการทางเทคโนโลยี พัฒนาการทางด้านเทคนิควิธีการ และวัสดุที่นำมาใช้ในการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์นั้น สามารถนำมาเป็นเงื่อนไขในการแบ่งยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ออกได้เป็น สมัยหินหรือยุคหิน (Stone Age)

๑. สมัยหินเก่า (Old Stone Age หรือ Palaeolithic Period) 
หลักฐานทางด้านโบราณคดีที่พบในดินแดนไทยยืนยันได้ว่า มีกลุ่มคนในสมัยหินเก่อาศัยอยู่ตั้งแต่ไม่น้อยกว่า ๑๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว โดยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ อาศัยอยู่ตามถ้ำ เพิงผาหรือที่พักอาศัยชั่วคราวตามภูเขาและที่สูงยังไม่มีการตั้งถิ่นฐานถาวรมีการย้ายที่อยู่อาศัยตามแหล่งอาหารในแต่ละฤดูกาล มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการล่าสัตว์และเก็บพืชผักผลไม้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติกินเป็นอาหาร ยังไม่รู้จักการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ใช้หินกรวดแม่น้ำมากะเทาะเป็นเครื่องมือสำหรับสับตัดแหล่งโบราณคดีในยุคหินเก่าที่สำคัญพบในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง และน่าน ภาคกลางพบที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี ภาคตะวันออกพบที่แหล่งโบราณคดีเขาแก้ว จังหวัดจันทบุรี ภาคใต้พบในพื้นที่จังหวัดกระบี่ พังงา และตรัง

๒. สมัยหินกลาง (Middle Stone Age หรือ Mesolithic Period) วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ในยุคหินกลางครอบคลุมระยะเวลาระหว่าง ๑๐,๐๐๐ ถึง ๖,๐๐๐ ปีมาแล้ว มนุษย์เริ่มอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม แหล่งที่พักอาศัยส่วนใหญ่อยู่ตามถ้ำหรือเพิงผาใกล้กับห้วยลำธารหรือแม่น้ำ อันเป็นทำเลที่เหมาะสมสำหรับหาอาหารทั้งพืชและสัตว์ที่ได้จากแหล่งน้ำ เครื่องมือเครื่องใช้ยังคงใช้หินกรวดแม่น้ำเป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องมือหินกะเทาะที่มีความประณีตมากขึ้น ส่วนมากจะกะเทาะเพียงหน้าเดียวแบบกะเทาะทั้งสองหน้าพบเพียงเล็กน้อย มีทั้งแบบที่เป็นแกนหินและสะเก็ดหิน มนุษย์สมัยหินกลางดำรงชีพด้วยการหาของป่าและล่าสัตว์เพื่อการบริโภค มีหลักฐานว่าในยุคหินกลางนี้ มนุษย์นำสุนัขมาเลี้ยง เพื่อใช้ในการล่าสัตว์โดยการทำหน้าที่ติดตามและจู่โจมสัตว์ที่ถูกล่า มนุษย์รู้จักการก่อไฟหุงหาอาหารในถ้ำที่อยู่ เมื่อตายจะมีพิธีกรรมในการฝังศพไว้ใต้ที่อยู่ ศพโดยมากจะฝังลงไปทั้งร่างในลักษณะนอนงอเข่าขึ้นมาถึงคาง มีการใช้ดืนสีแดงโรยหรือทาที่ตัวศพก่อนฝังพร้อมกับอาหารและเครื่องมือหิน แหล่งโบราณคดีในยุคหินกลางที่สำคัญที่พบในประเทศไทย ได้แก่ ถ้ำพระ ถ้ำจันเด จังหวัดกาญจนบุรี ถ้ำพระงาม จังหวัดสระบุรี และถ้ำผี จังหวัดแม่ฮ่องสอน

๓. สมัยหินใหม่ (New Stone Age หรือ Neolithic Period) เมื่อเข้าสู่ยุคหินใหม่ในช่วงระยะเวลาระหว่าง ๖,๐๐๐ ถึง ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว วิวัตนาการของมนุษย์มีเพิ่มมากขึ้น หากพิจารณาจากเทคโนโลยีแล้วพบว่ามนุษย์รู้จักทำเครื่องมือหินขัด ซึ่งพัฒนาขึ้นมาจากเครื่องมือกะเทาะด้วยการเลือกใช้วัสดุชนิดที่สามารถขัดฝนผิวให้เรียบและคม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้สอยให้มากยิ่งขึ้น อันเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการที่มนุษย์ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เริ่มตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัยถาวรสร้างบ้านเรือนใกล้กับแหล่งน้ำเป็นสังคมหมู่บ้าน มีผู้นำชุมชนหรือหัวหน้าหมู่บ้าน มนุษย์เริ่มรู้จักวิธีการควบคุมการผลิตอาหารโดยทำการเพาะปลูกข้าวและธัญพืช และเลี้ยงสัตว์จำพวก ไก่ หมา หมู วัวและควาย รู้จักการทอผ้าสำหรับทำเครื่องนุ่งห่มและผลิตภาชนะดินเผา มีพิธีกรรมในการฝังศพใต้ที่อยู่อาศัย ในลักษณะท่านอนหงายเหยียดยาว โดยใส่อาหารภาชนะดินเผาเครื่องมือหินและเครื่องประดับ เช่น ลูกปัดทำจากเปลือกหอยหรือกระดูกฝังร่วมไปกับศพ ในบริเวณภาคกลางของประเทศไทยวิวัฒนาการขั้นตอนนี้มีอยู่ในราว ๔,๐๐๐ ปีมาแล้วเป็นอย่างน้อย นอกจากนั้นยังพบแหล่งโบราณคดีสมัยหินใหม่อยู่ในทุกภาค ที่สำคัญได้แก่ แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี แหล่งโบราณคดีโนนป่าหวาย และท่าแค จังหวัดลพบุรี

๔. สมัยสำริด หรือยุคสำริด (Bronze Age) มนุษย์รู้จักการทำเครื่องมือเครื่องใช้จากโลหะสำริดเมื่อประมาณ ๔,๐๐๐ ถึง ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว พัฒนาการของชุมชนก้าวหน้าขึ้นเป็นอันมาก จากสังคมหมู่บ้านเกษตรกรรมกลายเป็นชุมชนที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ในแต่ละชุมชนจะมีการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีรูปแบบวัฒนธรรมของตนเอง ทั้งที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันและลักษณะเฉพาะแต่ละกลุ่ม ดังนั้นจึงเกิดช่างฝีมือต่างๆ ขึ้น เช่น ช่างปั้นภาชนะดินเผา ช่างทำเครื่องมือหิน ช่างทำเครื่องประดับ ฯลฯ ทำให้สภาพฐานะทางสังคมของคนในชุมชนมีความแตกต่างกันมากยิ่งขึ้น สังเกตได้จากพิธีกรรมการฝังศพซึ่งมีการใส่ข้าวของเครื่องใช้ลงไปมากน้อยต่างกันแล้วแต่ฐานะของผู้ตาย การที่มนุษย์ในสมัยนี้สามารถนำทรัพยากรแร่ธาตุทองแดง ดีบุก และตะกั่วมาถลุงและหลอมรวมกันผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีประสิทธิภาพดีมากยิ่งขึ้น คือ โลหะสำริด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวัสดุที่ใช้ทำเครื่องมือจากหินมาเป็นโลหะ ในช่วงแรกเครื่องมือสำริดยังคงเลืยนแบบรูปแบบของเครื่องมือหินขัดอยู่ ดังนั้นชุมชนใดที่ควบคุมแหล่งทรัพยากรก็จะมีอำนาจและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ เกิดการติดต่อกันระหว่างชุมชนเพื่อแลกเปลี่ยนทรัพยากรและเครื่องมือเครื่องใช้ ในสมัยสำริดนี้พบหลักฐานของชุมชน

๕. สมัยเหล็กหรือยุคเหล็ก ชุมชนในยุคเหล็กของประเทศไทยกระจายตัวไปอย่างกว้างขวางเมื่อประมาณ ๒,๕๐๐ ถึง ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว ได้มีการสำรวจพบหลักฐานของชุมชนในยุคเหล็กจำนวนมากในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในพื้นที่ลุ่มน้ำสำคัญต่างๆ เช่น ลุ่มแม่น้ำสงคราม ลุ่มแม่น้ำชี-มูล ลุ่มแม่น้ำพอง เป็นต้น ส่วนภาคกลาง ได้แก่ ในเขตลุ่มน้ำป่าสัก จังหวัดลพบุรี ภาคตะวันตกในเขตจังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดราชบุรี เป็นต้น สภาพของชุมชนในยุคเหล็กจะมีขนาดใหญ่ที่มีการเกษตรกรรมเพาะปลูกข้าว และเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนมีการใช้ทรัพยากรแร่ธาตุในการผลิตแบบอุตสาหกรรม เช่น การผลิตเครื่องปั้นดินเผาซึ่งมีรูปแบบเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชน การผลิตเกลือและที่สำคัญที่สุด คือ การถลุงเหล็กซึ่งสืบต่อเทคนิควิธีการมาจากยุคสำริด ในระยะแรกเหล็กคงเป็นโลหะที่ผลิตได้ยากและมีค่าจึงใช้ในการตกแต่งเครื่องมือสำริด โดยพบหลักฐานจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี เป็นใบมีดทำด้วยเหล็กส่วนด้ามเป็นสำริด การใช้โลหะสำริดก็ยังคงเป็นที่นิยมใช้อยู่แต่เปลี่ยนมาเป็นวัสดุที่ใช้ทำเครื่องประดับเป็นส่วนใหญ่ มีการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนทรัพยากรระหว่างชุมชนเพิ่มมากขึ้นทั้งกับชุมชนใกล้เคียงและชุมชนที่ห่างไกลออกไป เช่น ทางตอนใต้ของจีน เวียดนาม และอินเดีย ตลอดจนดินแดนแถบชายฝั่งทะเลและหมู่เกาะ การติดต่อกับภายนอกนี้ทำให้ชุมชนต้องมีการปรับตัวด้วยการสร้างคูน้ำคันดินล้อมรอบ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้และเพื่อการเกษตรกรรม และเมื่อชุมชนกระจายตัวมากขึ้นจึงได้มีการพัฒนาระบบชุมชนศูนย์กลางนำไปสู่การเกิดบ้านเมืองขึ้นในสมัยต่อมา แหล่งโบราณคดีสมัยเหล็กที่สำคัญ เช่น บ้านดีลัง จังหวัดลพบุรี บ้านภูคำเบ้า บ้านโนนนกทา จังหวัดขอนแก่น บ้านดงพลอย บ้านคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ บ้านกระเบื้องนอก จังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น

2.การกำหนดอายุโดยการใช้แบบแผนการดำรงชีพและลักษณะของสังคม หากพิจารณาจากแบบแผนการดำรงชีพ ลักษณะพัฒนาการของวิถีทางสังคมและเศรษฐกิจ จะสามารถแบ่งยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ออกได้เป็น

สมัยชุมชนล่าสัตว์-หาของป่า(Hunting-Gathering Society Period)
เมื่อเปรียบเทียบกับการกำหนดอายุสมัยโดยใช้พัฒนาการทางเทคโนโลยี จะตรงกับสมัยหินเก่าและสมัยหินกลางหรือที่เป็นที่รู้จักกันว่าวัฒนธรรมโหบิเนียน ซึ่งสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนจะคล้ายคลึงกัน แต่ลักษณะของเครื่องมือแตกต่างกันเล็กน้อย คือ สมัยหินเก่ามีการใช้เครื่องมือสับตัด ส่วนในวัฒนธรรมโหบิเนียนจะเป็นเครื่องมือหินกะเทาะหน้าเดียวซึ่งมีความประณีตกว่าเล็กน้อย การกำหนดอายุโดยใช้แบบแผนการดำรงชีพเป็นหลักจึงได้รวมเอาสมัยหินเก่าและหินกลางเข้าด้วยกัน รวมเรียกว่า “ สมัยชุมชนล่าสัตว์-หาของป่า ” ซึ่งครอบคลุมระยะเวลาระหว่าง ๕๐๐,๐๐๐ ถึง ๔,๕๐๐ ปีมาแล้ว แหล่งที่อยู่อาศัยของชุมชนล่าสัตว์หาของป่านี้จะอยู่ในที่สูง เช่น บริเวณถ้ำ เพิงผา ซึ่งใกล้กับแหล่งน้ำมีความเป็นอยู่ง่ายๆ การดำรงชีพของมนุษย์อยู่บนพื้นฐานของการล่าสัตว์ จับปลาและเก็บสะสมอาหาร มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นประโยชน์ตามฤดูกาล กล่าวคือ ฤดูแล้งจะมีการล่าสัตว์ ฤดูฝนจะมีการจับปลาและเก็บพืชพันธุ์นานาชนิดมาเป็นอาหาร ชุมชนล่าสัตว์บางกลุ่มอาจจะมีความรู้ในการเพาะปลูกเผือก หรือมันแล้ว แหล่งโบราณคดีในสมัยชุมชนล่าสัตว์ที่สำคัญได้แก่ ถ้ำผี ถ้ำปุงฮุง จังหวัดแม่ฮ่องสอน แหล่งริมแม่น้ำโขง อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นต้น

สมัยหมู่บ้านเกษตรกรรม ( Agricultural Village Society Period)
การพัฒนาการของสังคมระดับหมู่บ้านเกษตรกรรมเริ่มปรากฏขึ้นตั้งแต่ราว ๔,๕๐๐ปีมาแล้วซึ่งจะตรงกับสมัยหินใหม่และสมัยโลหะของพัฒนาการทางเทคโนโลยีจากการศึกษาหลักฐานทางด้านโบราณคดีในประเทศไทยมักจะพบเครื่องมือขวานหินขัดปะปนร่วมกับเครื่องมือโลหะสำริดหรือเครื่องมือสำริดและเครื่องมือเหล็กปะปนกันเสมอหรือบางครั้งก็มีการใช้เครื่องมือสำริดและเหล็กแยกออกจากกันโดยเด็ดขาดนักวิชาการกลุ่มหนึ่งจึงได้ใช้แบบแผนการดำรงชีพมากำหนดอายุสมัยในช่วงนี้เป็น“ สมัยหมู่บ้านเกษตรกรรม ” โดยลักษณะทางสังคมจะมีความซับซ้อนมาก มีการตั้งบ้านเรือนรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ อยู่ในบริเวณที่ราบขั้นบันไดขั้นต่ำใกล้แม่น้ำลำธาร เพื่อความสะดวกในการทำกสิกรรม มีระเบียบแบบแผนของสังคมเป็นเครื่องกำหนดความประพฤติ มีพิธีกรรมเป็นแบบแผนเดียวกัน เช่น มีประเพณีการฝังศพโดยมีการใส่สิ่งของลงไปในหลุมศพ เพื่อเซ่นสังเวยและแสดงฐานะของบุคคลและครอบครัว ชุมชนมีความเป็นอยู่โดยการเพาะปลูกข้าวแบบเลื่อนลอย เลี้ยงสัตว์ประเภท วัว ควาย สุกรและสุนัข นอกจากนั้นยังมีการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าจำพวก แร่ทองแดง แร่ดีบุก และเกลือกับชุมชนอื่นๆ การทำโลหะกรรมเครื่องมือเครื่องใช้สำริดและเหล็ก ระบบทางสังคมมีการจำแนกแรงงานเป็นสัดส่วนทำให้เกิดอาชีพเฉพาะอย่าง เช่น ช่างทำภาชนะดินเผา ช่างทอผ้า ช่างทำเครื่องมือเครื่องใช้จากโลหะ ชาวนาและเลี้ยงสัตว์ นอกจากนั้นในสมัยนี้ยังปรากฏหลักฐานภาพเขียนสีบนผนังหินยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นงานศิลปกรรมที่สะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ สภาพแวดล้อม ความคิด และความเชื่อของคนในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี แหล่งโบราณคดีในสมัยหมู่บ้านเกษตรกรรมที่สำคัญ ได้แก่ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง แหล่งโบราณคดีบ้านนาดี จังหวัดอุดรธานี แหล่งโบราณคดีโนนนกทา จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น

สมัยสังคมเมือง ( Urban Society Period ) เมื่อการขยายตัวของจำนวนประชากรในสังคมเพิ่มมากขึ้นประกอบกับการที่มนุษย์เริ่มมีความสามารถในการ ควบคุมการผลิต กลุ่มคนจึงเคลื่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานในเขตบริเวณที่ราบและพัฒนาตนเองขึ้นจนมีขนาดใหญ่กว่าชุมชนอื่นๆ มีการก่อสร้างคูน้ำคันดินล้อมรอบแหล่งที่อยู่อาศัยของชุมชน นับได้ว่าเป็นการเริ่มต้นเข้าสู่ “ สังคมเมือง ” ซึ่งเริ่มปรากฏขึ้นตังแต่ราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว กลุ่มคนที่อาศัยในเมืองโบราณที่มีการขยายตัวอยู่ตลอดเวลานี้ยังคงดำรงชีพด้วยการเพาะปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ การทำนาเกลือ การทำเครื่องมือสำริดและเหล็ก การหาของป่าล่าสัตว์มาเป็นอาหารและแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าก็ยังคงปฏิบัติกันอยู่ การเปลี่ยนแปลงที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการของชุมชนเป็นอันมาก คือ การได้ติดต่อกับอารยธรรมที่สูงกว่าจากภายนอก เช่น อารยธรรมอินเดีย ทำให้เกิดการเลือกรับความรู้ทางวิทยาการและคติความเชื่อศาสนา อันได้แก่ ศาสนาพุทธ และศาสนาฮินดูเข้ามาแทนคติการนับถือภูติผี และบรรพบุรุษตามแบบเดิม สภาพของสังคมมีการแบ่งชนชั้น คือ มีกลุ่มผู้ปกครอง ขุนนาง นักบวช พ่อค้าเกษตรกร ช่างฝีมือ ฯลฯ ถึงแม้จะมีความเหลื่อมล้ำทางอำนาจและฐานะทางเศรษฐกิจแต่คงไม่เป็นไปอย่างเด่นชัดมากนัก ฐานะของหัวหน้ากลุ่มยังคงอยู่ในฐานะชาวบ้านมากกว่ากษัตริย์ ในระยะประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒–๑๓ จึงได้มีอิทธิพลของวัฒนธรรมมอญและเขมรได้แพร่หลายเข้ามาทำให้การแบ่งชั้นฐานะทางสังคมเริ่มชัดเจนขึ้น กลุ่มชนที่ใช้ภาษามอญหรือที่รู้จักกันใน “ กลุ่มวัฒนธรรมทวารวดี ” ได้เริ่มแผ่ขยายอิทธิพลทางวัฒนธรรมเข้ามาในดินแดนไทยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๓ ทำให้บรรดาเมืองโบราณต่างๆ เจริญรุ่งเรืองขึ้นในรูปสหพันธรัฐที่รับอารยธรรมเดียวกัน เมืองในสมัยนี้ที่สำคัญ ประกอบไปด้วย เมืองนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี เมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๑๑–๑๖ “ กลุ่มวัฒนธรรมเขมร ” ได้แพร่หลายเข้ามาทางด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมสภาพความเป็นอยู่และการดำรงชีวิต มีการขยายความเจริญด้านเทคโนโลยี การก่อสร้างผังเมือง ถนนและการชลประทาน หลักฐานวัฒนธรรมเขมรที่ยังหลงเหลืออยู่ ได้แก่ ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ปราสาทหินพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี ปราสาทหินวัดกำแพงแลง จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น ตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙–ปัจจุบัน การพัฒนาของบ้านเมืองต่างได้พัฒนาขากสังคมเมืองสู่สังคมรัฐ กล่าวคือ เมื่อเมืองมีการขยายตัวความต้องการในด้านทรัพยากรเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดสงครามรบพุ่งกัน บ้านเมืองอิสระขนาดเล็กลดน้อยลงเกิดเป็นรัฐใหญ่ขึ้นมาแทน หากรัฐใดมีความเข้มแข็งมากก็จะช่วงชิงอำนาจความเป็นใหญ่เหนือรัฐอื่นๆ ซึ่งทำให้เกิดพัฒนาการทางสังคมยุคสมัยในศูนย์กลางความเจริญต่างกัน เช่น สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา สมัยธนบุรี สมัยรัตนโกสินทร์ เป็นต้น


3.การกำหนดอายุ โดยการใช้วิธีการแบ่งตามสมัยย่อยของประวัติโลกการกำหนดอายุโดยใช้วิธีการแบ่งสมัยย่อยของประวัติโลกตามที่นักธรณีวิทยาได้แบ่งไว้ มาใช้แบ่งสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ได้ดังนี้

วัฒนธรรมในสมัยไพลสโตชีน ( Plelstocene ) อาจกล่าวได้ว่าอายุวัฒนธรรมสมัยไพลสโตซีนนั้นตรงกับสมัยหินเก่า ตามแบบการแบ่งยุคด้วยพัฒนาการทางเทคโนโลยี สมัยทางธรณีนี้ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ประมาณ ๒,๐๐๐,๐๐๐ ถึง ๑๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว นักโบราณคดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แบ่งสมัยไพลสโตซีนออกเป็น ๓ สมัยย่อย คือ

๑. สมัยไพลสโตซีนตอนต้น ระยะเวลาประมาณ ๒,๐๐๐,๐๐๐ ถึง ๗๐๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว
๒. สมัยไพลสโตซีนตอนกลาง ระยะเวลาประมาณ ๗๐๐,๐๐๐ ถึง ๑๒๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว
๓. สมัยไพลสโตซีนตอนปลาย ระยะเวลาประมาณ ๑๒๕,๐๐๐ ถึง ๑๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว

คนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในสมัยไพลสโตซีนนี้ ยังไม่มีการสร้างที่อยู่อาศัยอย่างถาวร เพิงพักสร้างขึ้นอย่างง่ายๆ ชั่วคราวตามที่โล่ง หรือบางครั้งก็ใช้ถ้ำหรือเพิงผาเป็นที่พักอาศัย มีการอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ น่าจะมีการเคลื่อนย้ายหมุน เวียนที่พักอาศัยไปมาภายในขอบเขตที่ตนเองคุ้นเคย การเคลื่อนย้ายปกติอาจจะเป็นไปตามฤดูกาล เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพภูมิ อากาศและแหล่งอาหารทั้งพืชและสัตว์ ซึ่งในสมัยนี้ยังไม่มีการเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ มนุษย์ดำรงชีพด้วยการหาของป่าพืชผัก ผลไม้ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมาเป็นอาหารและการล่าสัตว์ทั้งสัตว์ป่าและสัตว์น้ำ เครื่องมือเครื่องใช้ของคนในสมัยไพลสโตซีนเป็นเครื่องมือหินกะเทาะมีทั้งชนิดที่ทำจากแกนหินและสะเก็ดหิน ในระยะแรกเป็นเครื่องมือขูดสับและตัดทำจากหินกรวดแม่น้ำ ต่อมาเป็นเครื่องมือสะเก็ดหินและเครื่องมือแบบโหบิเนียนตามลำดับ ในบางครั้งอาจใช้ไม้ทำเป็นเครื่องมือใช้สอยและอาวุธ เช่น ไม้ไผ่ซึ่งสามารถนำมาดัดแปลงเป็นเครื่องมือปลายแหลม เครื่องมือมีคม ภาชนะหุงต้ม ภาชนะบรรจุของแห้ง ภาชนะบรรจุน้ำ เป็นต้น แหล่งโบราณคดีสมัยไพลสโตซีนที่สำคัญในประเทศไทย ได้แก่ แหล่งโบราณคดีที่อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง แหล่งโบราณคดีถ้ำหลังโรงเรียน แหล่งโบราณคดีถ้ำหมอเขียว จังหวัดกระบี่ และแหล่งโบราณคดีถ้ำผี จังหวัดแม่ฮ่องสอน

วัฒนธรรมสมัยโฮโลซีน หรือ สมัยหลังไพลสโตซีน (Post-Pleistocene) รูปแบบวัฒนธรรมสมัยโฮโลซีนนั้นครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ประมาณ ๑๐,๐๐๐ ปีมาแล้วเป็นต้นมา โดยแบ่งออกเป็น ๓ สมัยย่อย

๑. สมัยโฮโลซีนตอนต้น (Early Holocene) วัฒนธรรมโฮโลซีนตอนต้นนั้นจะตรงกับ สมัยหินกลางและบางช่วงของสมัยหินใหม่ตามการกำหนดอายุโดยการใช้พัฒนาการทางเทคโนโลยี ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ประมาณ ๑๐,๐๐๐ หรือ ๑๒,๐๐๐ ถึง ๗,๐๐๐ ปีมาแล้ว มนุษย์เริ่มรวมกลุ่มกันใหญ่ขึ้นมีการอยู่อาศัยตามถ้ำหรือเพิงผา แต่บางกลุ่มก็ยังคงอาศัยอยู่ตามพื้นที่โล่งใกล้กับแหล่งน้ำรวมทั้งใกล้กับทะเล และเดินทางเคลื่อนย้ายที่อยู่ไปมาตามฤดูกาล การดำรงชีพของมนุษย์ในช่วงนี้ยังคงเป็นแบบหาของป่า-ล่าสัตว์ โดยวิธีดักจับทั้งสัตว์ป่าและสัตว์น้ำ พบกระดูกสัตว์จำนวนมากที่ถูกล่ามาเป็นอาหาร ประกอบไปด้วย วัวป่า หมูป่า กวาง เก้ง สมัน แรด ลิง และกระรอก การเก็บพืชผักผลไม้ป่า การหาหัวเผือกหัวมันมาเป็นอาหาร เครื่องมือที่ใช้ยังคงเป็นเครื่องมือหินกะเทาะทั้งเครื่องมือแกนหินและเครื่องมือสะเก็ดหิน รวมถึงเครื่องมือหินแบบโหบิเนียน และเครื่องมือที่ทำจากไม้จำพวกไม้ซางหรือลูกดอก การขุดค้นแหล่งโบราณคดีถ้ำผี จังหวัดแม่ฮ่องสอน พบว่าในช่วงเวลาประมาณ ๙,๐๐๐ ถึง ๗,๕๐๐ ปีมาแล้ว ได้มีการเริ่มทำและใช้เครื่องมือหินขัดด้วย

๒. สมัยโฮโลซีนตอนกลาง (Middle Holocene) วัฒนธรรมสมัยโฮโลซีนตอนกลางนั้นตรงกับสมัยหินใหม่ ตามการกำหนดอายุโดยการใช้พัฒนาการทางเทคโนโลยี ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ประมาณ ๗,๐๐๐ ถึง ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว ผู้คนในสมัยนี้มีการสร้างบ้านเรือนอยู่รวมกันเป็นกลุ่มหมู่บ้านที่ถาวรมีการปกครองภายในชุมชนง่ายๆ โดยหัวหน้าหมู่บ้านแต่ละชุมชนมีอำนาจอิสระในการปกครองตนเอง พื้นที่อยู่อาศัยอยู่ในเขตที่ดอนแวดล้อมไปด้วยที่ราบลุ่มและใกล้กับแหล่งน้ำธรรมชาติ เหมาะสมกับการเพาะปลูกช้าวซึ่งอาจทำนาหว่านในลักษณะนาเลื่อนลอยในที่ราบลุ่มน้ำขัง มีการเลี้ยงสัตว์บางชนิด เช่น วัว หมู และ ไก่ ถึงแม้ว่าจะผลิตอาหารได้เองแล้ว การล่าสัตว์ป่าและเก็บพืชพันธุ์มาเป็นอาหารก็ยังคงมีอยู่ควบคู่กับอาหารที่ผลิตได้ มีการผลิตภาชนะดินเผาขึ้นใช้กันเองเกือบทุกครัวเรือน เครื่องมือที่ใช้ในสมัยโฮโลซีนตอนกลางนี้มีการใช้เครื่องมือหินรูปหัวขวานที่ทำขึ้นอย่างประณีตขัดฝนจนเรียบทั่วกันทั้งชิ้น ซึ่งเรียกโดยรวมๆ ว่า “ ขวานหินขัด ” มีการติดต่อแลกเปลี่ยนสิ่งของและผลผลิตระหว่างชุมชนในภูมิภาคเดียวกันและชุมชนภายนอก โดยปรากฏหลักฐานเครื่องประดับ ประเภท ลูกปัด กำไลทำจากหินกึ่งมีค่าและเปลือกหอยทะเล ซึ่งเป็นของที่นำเข้ามาจากดินแดนภายนอก นอกจากนี้ยังมีแบบแผนพิธีกรรมของกลุ่มชน เช่น พิธีกรรมในการฝังศพโดยมีการมัดข้อมือข้อเท้าศพและห่อศพก่อนฝัง ตกแต่งร่างกายศพด้วยเครื่องประดับ และมีการฝังสิ่งของเครื่องใช้สอยโดยเฉพาะภาชนะดินเผาร่วมกับศพ

๓. สมัยโฮโลซีนตอนปลาย (Late Holocene) วัฒนธรรมสมัยโฮโลซีนตอนปลายนั้นตรงกับสมัยสำริดและสมัยเหล็ก ตามการกำหนดอายุโดยการใช้พัฒนาการทางเทคโนโลยี ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ช่วงหลัง ๔,๐๐๐ ปีมาแล้วเป็นต้นมา ในช่วงแรกของสมัยโฮโลซีนตอนปลายชุมชนส่วนใหญ่ยังคงเป็นหมู่บ้านเกษตรกรรมที่มีวิธีการทำการเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมขนาดไม่ใหญ่นัก ซึ่งในระยะหลังเริ่มมีการเลี้ยงควายเพื่อใช้แรงงานในกระบวนการผลิต แต่ก็มีบางชุมชนที่อาจมีขนาดใหญ่ขึ้นเนื่องจากการเพิ่มของประชากร การติดต่อแลกเปลี่ยนสินค้ามีความสำคัญมากขึ้น ทำให้เกิดช่างฝีมือชำนาญงานเฉพาะด้าน และเกิดกระบวนการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่มาผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีประสิทธิภาพดีมากยิ่งขึ้น เช่น การถลุงแร่ทำให้เกิดเครื่องมือเครื่องใช้ และอาวุธ เช่น หัวขวาน ใบมีด หัวลูกศร ฯลฯ ที่เป็นโลหะสำริดและเหล็ก ในช่วงระยะเวลาราว ๒,๓๐๐ ถึง ๒,๐๐๐ ปี ได้มีการขยายการติดต่อสัมพันธ์กับเครือข่ายการติดต่อแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างชุมชนที่ห่างไกลกันมากออกไป เช่น อินเดีย โดยพบหลักฐานเป็นลูกปัดที่ทำจากหินกึ่งรัตนชาติซึ่งเป็นของที่นำเข้ามา ชุมชนหมู่บ้านเกษตรกรรมต่างๆ ได้ขยายตัวขึ้นจนบางแห่งมีขนาดใหญ่มากจนมีฐานะเป็นศูนย์กลางมีชุมชนขนาดเล็กๆ เป็นบริวาร พิธีกรรมการฝังศพในสมัยโฮโลซีนตอนปลาย มักพบว่ามีการใส่สิ่งของเครื่องใช้เครื่องประดับฝังร่วมอยู่กับศพ ในปริมาณที่แตกต่างกันเป็นเครื่องบ่งชี้ในสถานะทางสังคมของบุคคลที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน

ยุคกึ่งก่อนประวัติศาสตร์ ( Proto -history)

กึ่งก่อนประวัติศาสตร์ (Proto-history) คือ ยุคที่ชุมชนหนึ่งชุมชนใดยังไม่มีการใช้ลายลักษณ์อักษรแต่เราจะทราบเรื่องราวของกลุ่มชนนี้ ได้จากการบันทึกของชุมชนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงและเล่าเรื่องราวพาดพิงไปถึงหรือชุมชนที่มีตัวอักษรใช้แล้วแต่ตัวอักษรหรือตัวหนังสือนั้นยังไม่มีผู้ใดอ่านออก เช่น จารึกที่พบที่เมืองฮารัปปา (Harappa) และเมืองโมเหนโจดาโร (Mohenjodaro) ในประเทศอินเดีย หรือชุมชนที่มีการบันทึกตัวอักษรแต่บันทึกไม่ต่อเนื่องกันเป็นเรื่องราว เช่น สมัยทวารวดีในประเทศไทย

สมัยทวารวดี วัฒนธรรมทวารวดีพัฒนาขึ้นมาในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒–๑๖ (อายุราว ๑๒๐๐–๙๐๐ ปีมาแล้ว) โดยมีพื้นฐานจากการติดต่อแลกเปลี่ยนสินค้ากันระหว่างชุมชนดั้งเดิมในดินแดนประเทศไทยกับผู้คนจากภายนอกทั้งทางด้านตะวันตก คือ อินเดีย เปอร์เซีย โรม และทางตะวันออก คือ จีนตอนใต้ เวียดนามเหนือและชุมชนชายฝั่งทะเลอื่นๆ ทำให้กลุ่มคนในวัฒนธรรมดั้งเดิมยอมรับวัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามาวิวัฒน์ปรับเปลี่ยนจนมีเอกลักษณ์เฉพาะตนขึ้น หลักฐานทางศิลปวัฒนธรรมที่ใช้แบ่งแยกวัฒนธรรมทวารวดีออกจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์ คือ การยอมรับอิทธิพลวัฒนธรรมอินเดีย จนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบประเพณีดั้งเดิมเป็นต้นว่า การใช้ลายลักษณ์อักษรจารึกเรื่องราว การนับถือศาสนาซึ่งมีทั้งพุทธศาสนาฝ่ายหินยานและมหายานรวมทั้งศาสนาฮินดูเข้ามามีบทบาทแทนความเชื่อดั้งเดิม และการเปลี่ยนแปลงประเพณีเกี่ยวกับการตายจากการฝังศพมาเป็นเผา เป็นต้นคำว่า “ ทวารวดี” นั้นปรากฏในจารึกอักษรปัลลวะภาษาสันสกฤต บนเหรียญเงินที่พบในเมืองโบราณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคกลางของประเทศไทย เช่น ที่เมืองนครชัยศรีหรือเมืองนครปฐมโบราณ เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี เมืองโบราณดงคอน จังหวัดชัยนาท และเมืองโบราณบ้านคูเมือง จังหวัดสิงห์บุรี เป็นต้น โดยจารึกทำนองเดียวกันว่า “ ศรีทวารวดี ศวรปุณยะ” แปลว่า “ บุญของพระผู้เป็นเจ้าแห่ง(ศรี) ทวารวดี ” หรือ “ พระเจ้าศรีทวารวดีผู้มีบุญอันประเสริฐ ” หรือ “ บุญของพระราชาแห่งทวารวดี ” ซึ่งนักวิชาการได้นำมาเป็นชื่อเรียกรูปแบบของวัมนธรรมหรือสกุลช่างทางศิลปะ ซึ่งได้รับอิทธิพลของศิลปะอินเดียแบบอมราวดี แบบคุปตะและหลังคุปตะปะปนอยู่ด้วย หลักฐานศิลปกรรมที่ยังคงเหลือร่องรอยปรากฏอยู่ในสถาปัตยกรรมและรูปเคารพที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนา เช่น สถูปเจดีย์ ใบเสมา รูปประติมากรรมปูนปั้น พระพุทธรูป พระพิมพ์ และธรรมจักร หลักฐานจารึกบ่งชัดว่าในวัฒนธรรมทวารวดีมีระบบการปกครองที่มีกษัตริย์เป็นใหญ่ ในจารึกแผ่นทองแดงที่พบจากเมืองอู่ทอง กล่าวถึง วงศ์ของกษัตริย์ซึ่งพระนามของกษัตริย์ต่างลงท้ายด้วยคำว่า “ วรมัน ” ลักษณะทางสังคมในสมัยทวารวดีนั้นเป็นสังคมเกษตรกรรมเพาะปลูกข้าวเป็นอาชีพหลัก เลี้ยงสัตว์ มีการหาของป่าล่าสัตว์ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ รู้จักการทอผ้าและผลิตภาชนะดินเผาไว้ใช้ในชุมชน อาชีพสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ โลหะกรรมซึ่งพัฒนาสืบเนื่องมาจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์ สภาพชุมชนมีระบบสังคมซับซ้อนยิ่งขึ้นหรืออาจจัดได้ว่าเป็นสังคมเมือง ร่องรอยของชุมชนสมัยทวารวดีบนผืนแผ่นดินไทยปัจจุบันปรากฏหนาแน่นในบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนั้นยังพบว่ามีความสัมพันธ์กับ “ วัฒนธรรมหริภุญไชย ” ในทางภาคเหนือและ “วัฒนธรรมศรีวิชัย ” ของทางภาคใต้

ยุคประวัติศาสตร์ ( History )

โดยทั่วไปยุคประวัติศาสตร์ถูกแบ่งออกจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อมนุษย์รู้จักใช้ตัวอักษรบันทึกเรื่องราวของตนเอง แต่การที่มนุษย์แต่ละชุมชนมีความแตกต่างกันในลักษณะของการตั้งถิ่นฐาน สภาพแวดล้อม รวมไปถึงการยอมรับอิทธิพลอันเนื่องมาจากการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนภายนอกต่างกัน จึงเป็นเงื่อนไขเฉพาะที่ทำให้พัฒนาการทางสังคมเศรษฐกิจและศิลปวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชนแตกต่างไม่เท่ากันไปด้วย สมัยประวัติศาสตร์ในประเทศไทยสามารถแบ่งย่อยๆออกได้เป็น

สมัยลพบุรี ในช่วงเวลาราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ อิทธิพลทางวัฒนธรรมเขมรเริ่มแพร่หลายเข้ามาสู่พื้นที่ประเทศไทยทางด้านภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย หลักฐ่านสำคัญที่ทำให้เราเชื่อได้ว่าอำนาจทางการเมืองของเขมรเข้ามาสู่ดินแดนไทย คือ ศาสนสถานทั้งที่สร้างเนื่องในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู และศาสนาพุทธลัทธิมหายาน รวมทั้งศิลาจารึกต่างๆ ที่มีการระบุชื่อกษัตริย์เขมรว่าเป็นผู้สร้างหรือมีส่วนเกี่ยวข้อง วัฒนธรรมเขมรที่แผ่ขยายเข้ามาทำให้สังคมเมืองในยุคกึ่งก่อนประวัติศาสตร์เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพความเป็นอยู่ เช่น การก่อสร้างบ้านเมืองมีแผนผังแตกต่างไปจากเดิม คือ มีลักษณะผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมมุมฉาก และมีคูน้ำคันดินล้อมรอบเพียงชั้นเดียวแทนที่จะสร้างเมืองที่มีรูปร่างไม่สม่ำเสมอ หรือเมืองรูปวงกลม วงรี ซึ่งมีคูน้ำหลายชั้น มีระบบการชลประทานเพื่อการบริหารน้ำสำหรับการเพาะปลูกข้าวแบบนาดำ และมี “ บาราย ” หรือแหล่งน้ำขนาดใหญ่เพื่อการอุปโภคบริโภคของชุมชน จนกระทั่งราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖–๑๘ อาณาจักรเขมรได้เข้ามามีอำนาจในดินแดนไทยมากขึ้น ปรากฏโบราณสถานที่เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมเขมรโดยเฉพาะในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เกือบทั่วภาคอีสาน ลึกเข้ามาถึงภาคกลางและภาคตะวันตก โดยภาคกลางของประเทศไทยมีเมืองละโว้หรือลพบุรีเป็นศูนย์กลางสำคัญที่ปรากฏหลักฐานทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมแบบนี้อยู่มาก ดังนั้นในเวลาที่ผ่านมาจึงกำหนดชื่อเรียกอายุสมัยของวัฒนธรรมที่พบในประเทศไทยว่า “ สมัยลพบุรี ” หลังจากสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เป็นต้นมา อิทธิพลทางการเมืองและวัฒนธรรมเขมรก็เสื่อมโทรมลงจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ก็สลายลงโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้สาเหตุเนื่องมาจากการแพร่หลายเข้ามาของพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ และเมืองในภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทยแถบลุ่มแม่น้ำยมเริ่มมีความเข้มแข้งมากขึ้น สถาปัตยกรรมแบบวัฒนธรรมเขมรที่พบในประเทศไทย ที่สำคัญได้แก่ ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ปราสาทหินพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น

สมัยสุโขทัย ดินแดนในเขตลุ่มแม่น้ำยมมีชุมชนอยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น ยาวนานมาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ในศิลาจารึกวัดศรีชุม มีข้อความที่พอจะสรุปได้ว่าประมาณปี พ.ศ.๑๗๕๐ เมืองสุโขทัยมีกษัตริย์ปกครองทรงพระนามว่า “พ่อขุนศรีนาวนัมถม” เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ลงขอมสบาดโขลญลำพงได้เข้ามายึดครองสุโขทัย ต่อมาเมื่ออำนาจเขมรที่มีเหนือแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งตอนล่างและตอนบนเสื่อมลงในตอนกลางของพุทธศตวรรษที่ ๑๘ พ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยาง และพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด พระราชโอรสของพ่อขุนศรีนาวนัมถม ได้ร่วมกันต่อสู้ขับไล่โขลญลำพงจนสามารถรวบรวมดินแดนกลับคืนมาได้สำเร็จในปี พ.ศ.๑๗๑๘ พ่อขุนบางกลางหาวสถาปนาขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ศรีอินทราทิตย์ ทรงพระนามว่า “พระเจ้าศรีอินทรบดินทราทิตย์” ขึ้นครองเมืองสุโขทัยซึ่งต่อมามีกษัตริย์ปกครองสืบทอดกันมาทั้งสิ้น ๑๐ พระองค์ การนับถือศาสนาของคนในสมัยสุโขทัย พุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักทั้งหินยานและมหายาน นอกจากนั้นยังมีศาสนาฮินดูและความเชื่อดั้งเดิม โดยพุทธศาสนาแบบหินยานลัทธิลังกาวงศ์ได้รับการยอมรับมากจนเป็นศาสนาประจำอาณาจักร รองลงมาคือ การนับถือผี หรือ พระขะผุงผี อันถือว่าเป็นผีที่ยิ่งใหญ่มากกว่าผีทั้งหลายในเมืองสุโขทัย นิกายมหายาน และศาสนาฮินดู ตามลำดับในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัยได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวางมาก มีการติดต่อสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เป็นการวางรากฐานอารยธรรมไทย คือ การประดิษฐ์ตัวอักษรไทย ซึ่งได้ทรงนำแบบแผนของตัวหนังสืออินเดียฝ่ายใต้ โดยเฉพาะตัวอักษรคฤหณ์มาเป็นหลักในการประดิษฐ์ตัวอักษร โดยทรงพิจารณาเทียบเคียงกับตัวอักษรของเขมรและมอญ ศิลปกรรมในสมัยสุโขทัยที่โดดเด่นมากที่สุดได้แก่ งานศิลปกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา โดยเฉพาะการสร้างพระพุทธรูปซึ่งมีรูปแบบที่เป็นของตนเองอย่างแท้จริง ศิลปะการสร้างพระพุทธรูปของสุโขทัยรุ่งเรืองและสวยงามมากในรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) พระพุทธรูปที่สำคัญ ได้แก่ พระพุทธชินราช พระศรีศากยมุนี และพระพุทธชินสีห์ เป็นต้น งานสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสมัยสุโขทัย คือ เจดีย์ทรงดอกบัวตูม ซึ่งสามารถศึกษาได้จากโบราณสถานที่สำคัญๆ ในเมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย และเมืองกำแพงเพชร ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ อาณาจักรสุโขทัยอ่อนแอลงจากการแย่งชิงการสืบทอดอำนาจการปกครอง ทำให้กรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นบ้านเมืองที่เข้มแข็งขึ้นในเขตภาคตะวันออกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาขยายอำนาจขึ้นมา จวบจนปี พ.ศ.๑๙๒๑ รัชกาลพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพะงั่ว) แห่งกรุงศรีอยุธยา สุโขทัยจึงตกเป็นเมืองประเทศราชของอยุธยา โดยมีกษัตริย์ที่มีฐานะเป็นเจ้าประเทศราชปกครองมาจนถึงปี พ.ศ.๑๙๘๑ จึงหมดสิ้นราชวงศ์

สมัยอยุธยา สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ หรือ “ พระเจ้าอู่ทอง ” ทรงรวบรวมเมืองต่างๆ ในที่ราบลุ่มภาคกลางเข้าด้วยกัน ประกอบด้วย เมืองลพบุรี เมืองสุพรรณบุรี และเมืองสรรคบุรี เป็นต้น แล้วสถาปนาเมืองพระนครศรีอยุธยาขึ้นในปี พ.ศ. ๑๘๙๓ บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางอันมีแม่น้ำสำคัญสามสายไหลผ่าน คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำป่าสัก เป็นชัยภูมิที่เหมาะสมในการตั้งรับข้าศึกศัตรู และเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเกษตรกรรมเพาะปลูกข้าว กรุงศรีอยุธยาดำรงฐานะราชธานีของไทย เป็นศูนย์กลางทางการเมืองการปกครอง การค้า และศิลปวัฒนธรรมในดินแดนลุ่มเจ้าพระยายาวนานถึง ๔๑๗ ปี มีพระมหากษัตริย์ปกครองสืบต่อกันมาทั้งสิ้น ๓๓ พระองค์ จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๓๐๑ อาณาจักรกรุงศรีอยุธยาจึงได้ถูกทำลายลงในระหว่างสงครามกับพม่า สังคมในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นสังคมศักดินา ฐานะของพระมหากษัตริย์เปรียบเสมือน “ เทวราชา ” เป็นสมมติเทพ มีการแบ่งชนชั้นทางสังคมในระบบ “ เจ้าขุนมูลนาย ” ทำให้เกิดความแตกต่างของฐานะบุคคลอย่างชัดเจน รวมถึงพระสงฆ์ก็มีการกำหนดศักดินาขึ้นเช่นเดียวกัน ในการปกครองถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมดทั่วราชอาณาจักร โดยจะทรงแบ่งอาณาเขตออกเป็นหัวเมืองต่างๆ แล้วทรงมอบหมายให้ขุนนางไปครองที่ดินรวมทั้งปกครองผู้คนที่อยู่อาศัยในที่ดินเหล่านั้นด้วย ดังนั้นที่ดินและผลผลิตที่ได้จากการเกษตรกรรมส่วนใหญ่จึงตกอยู่ในมือของผู้ที่มีฐานะทางสังคมสูง พระมหากษัตริย์ทรงผูกขาดการค้าขายสินค้าในระบบพระคลังสินค้า สิ่งของต้องห้ามบางชนิดที่หายากและมีราคาแพง ราษฎรสามัญธรรมดาไม่สามารถจะมีไว้ในครอบครองเพื่อประโยชน์ทางการค้าได้ จะต้องส่งมอบหรือขายให้กับพระคลังสินค้าในราคาที่กำหนดตายตัวโดยพระคลังสินค้า และหากพ่อค้าต่างชาติต้องการจะซื้อสินค้าประเภทต่างๆ ต้องติดต่อโดยตรงกับพระคลังสินค้า ในราคาที่กำหนดตายตัวโดยพระคลังสินค้าเช่นเดียวกัน การที่พระมหากษัตริย์ทรงสนพระทัยทางด้านการค้าและทรงรับเอาชาวจีนที่มีความชำนาญทางด้านการค้ามาเป็นเจ้าพนักงานในกรมพระคลังสินค้าของไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้การค้าเจริญรุ่งเรืองก่อให้เกิดความมั่งคั่งแก่อยุธยาเป็นจำนวนมาก จนกล่าวได้ว่า ครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ ๒๒ กรุงศรีอยุธยาเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกไกล รายได้ของแผ่นดินส่วนใหญ่มามาจากการเก็บภาษีโดยส่วนใหญ่จะถูกแบ่งไว้สำหรับเลี้ยงดูบำรุงความสุขและเป็นบำเหน็จตอบแทนพวกขุนนางและเจ้านายซึ่งเป็นผู้ปกครอง ส่วนที่เหลือก็อาจจะใช้ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์สำหรับป้องกันศัตรูที่จะมารุกราน หรืออาจจะใช้สำหรับการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาบ้าง เป็นต้น ส่วนการทำนุบำรุงท้องถิ่น เช่น การขุดคลอง การสร้างถนน การสร้างวัด ก็มักจะใช้วิธีเกณฑ์แรงงานจากไพร่ทั้งสิ้น ในด้านศิลปกรรม ช่างฝีมือในสมัยอยุธยาได้สร้างสรรค์ศิลปกรรมในรูปแบบเฉพาะของตนขึ้น โดยการผสมผสานวัฒนธรรมของกลุ่มชนหลายเชื้อชาติ เช่น ศิลปะสุโขทัย ศิลปะล้านนา ศิลปะลพบุรี ศิลปะอู่ทอง และศิลปะจากชาติต่างๆ เช่น จีนและชาติตะวันตก ทำให้เกิดรูปแบบ “ ศิลปะอยุธยา ” ขึ้น ซึ่งสามารถศึกษาได้จากโบราณสถานที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาวัดวาอารามต่างๆ รวมถึงปราสาทราชวังโบราณในสมัยอยุธยา อันปรากฏเด่นชัดอยู่ในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดลพบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น

สมัยธนบุรี หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า ราษฎรไทยที่เหลือรอดจากการถูกกวาดต้อนตามเขตแขวงรอบๆ พระนครต่างก็ซ่องสุมผู้คน เข้ารบราฆ่าฟันเพื่อป้องกันตนเองและแย่งชิงเสบียงอาหารเพื่อความอยู่รอด กรุงศรีอยุธยาจึงอยู่ในสภาพจลาจล บ้านเมืองแตกแยกออกเป็นก๊กเป็นเหล่า มีชุมนุมที่คิดจะรวบรวมผู้คนเพื่อกอบกู้เอกราชถึง ๖ ชุมนุม ได้แก่ ชุมนุมเจ้าพิษณุโลก ชุมนุมเจ้าพระฝาง ชุมนุมสุกี้พระนายกอง ชุมนุมเจ้าพิมาย ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราชและชุมนุมพระเจ้าตาก ซึ่งต่อมาชุมนุมพระเจ้าตากสินเป็นกลุ่มกำลังสำคัญที่มีที่สามารถกอบกู้เอกราชได้สำเร็จ โดยตีค่ายโพธิ์สามต้นแตกขับพม่าออกไปได้ เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้บ้านเมืองได้สำเร็จในปี พ.ศ.๒๓๑๐ ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ และโปรดเกล้าฯให้ ปรับปรุงเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณป้อมวิไชเยนทร์สถาปนาขึ้นเป็นราชธานี โปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชวังขึ้นเป็นที่ประทับและศูนย์กลางบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยเหตุผลว่าเป็นเมืองที่มีป้อมปราการและชัยภูมิที่ดีทางยุทธศาสตร์ ขนาดของเมืองพอเหมาะกับกำลังไพร่พลและราษฎรในขณะนั้น โครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมสมัยธนบุรียังคงดำเนินรอยตามรูปแบบของอยุธยา ฐานะของพระมหากษัตริย์ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ยังยึดขัตติยราชประเพณีตามแบบฉบับของกรุงศรีอยุธยาเป็นสำคัญ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจขณะนั้นอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมมาก จำเป็นที่จะต้องแก้ไขเร่งด่วน สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยการสละพระราชทรัพย์ซื้อข้าวสารจากพ่อค้าชาวต่างประเทศ ด้วยราคาแพงเพื่อบรรเทาความขาดแคลน มีผลทำให้พ่อค้าชาวต่างประเทศบรรทุกข้าวสารลงเรือสำเภาเข้ามาค้าขายเป็นอันมาก ทำให้ราคาข้าวสารถูกลงและปริมาณเพียงพอแก่ความต้องการ นอกจากนั้นยังทรงใช้ให้บรรดาขุนนางข้าราชการขวนขวายทำนาปีละ ๒ ครั้ง เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวให้เพียงพอแก่ความต้องการ เป็นตัวอย่างแก่ราษฎรทั้งปวง ทำให้ราษฎรมีความกินดีอยู่ดีมากขึ้น ในด้านการค้าชาวจีนที่มาตั้งหลักแหล่งค้าขาย และทำมาหากินในราชอาณาจักรได้มีส่วนสำคัญในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของอาณาจักรธนบุรี ด้านการศาสนาและศิลปวัฒนธรรม สมัยธนบุรีเป็นสมัยของการฟื้นฟูชาติบ้านเมือง ทรงโปรดเกล้าฯให้ตั้งสังฆมณฑลตามแบบอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา เช่น ทรงจัดการชำระคณะสงฆ์ที่ไม่ตั้งอยู่ในศีลวัตร สร้างซ่อมแซมวัดวาอารามที่ตกอยู่ในสภาพทรุดโทรม แสวงหาพระสงฆ์ที่มีคุณธรรมความรู้มาตั้งเป็นพระราชาคณะเป็นเจ้าอาวาสปกครองสงฆ์และสั่งสอนปริยัติธรรมและภาษาไทย ส่งพระราชาคณะไปเที่ยวจัดสังฆมณฑลตามหัวเมืองเหนือ เพราะเกิดวิปริตครั้งพระเจ้าฝางตั้งตนเป็นใหญ่และทำสงครามทั้งๆที่เป็นพระสงฆ์ และทรงรวบรวมพระไตรปิฎกให้สมบูรณ์ครบถ้วน ศิลปกรรมต่างๆจึงยังคงดำเนินตามแบบอยุธยา เนื่องจากระหว่างรัชกาลมีศึกสงครามอยู่ตลอดเวลาทำให้ช่างฝีมือไม่มีเวลาในการที่จะสร้างสรรค์งานด้านศิลปะให้ก้าวหน้าออกไปจากเดิม สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงครองราชย์อยู่เป็นระยะเวลา ๑๕ ปี เนื่องจากทรงมีพระราชภาระกิจทั้งทางด้านการกอบกู้บ้านเมืองซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจตกต่ำจากภาวะการสงคราม และปกป้องบ้านเมืองซึ่งข้าศึกได้ยกเข้ามาตลอดรัชกาล ปลายรัชกาลได้ทรงมีพระสติฟั่นเฟือนในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ เจ้าพระยาจักรีซึ่งเป็นแม่ทัพสำคัญของสมเด็จพระเจ้าตากสิน จึงได้รับอัญเชิญให้ครองราชย์สมบัติ

สมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕ โปรดเกล้าฯให้ย้ายราชธานีมาตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามกับกรุงธนบุรี การสร้างพระนครเริ่มขึ้น ในปี พ.ศ.๒๓๒๖ เมื่อสร้างสำเร็จในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ ได้พระราชทานนามว่า “กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ฯ ” เป็นศูนย์กลางการปกครองของประเทศที่เจริญรุ่งเรือง มีพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีปกครองประเทศมาจนถึงปัจจุบันจำนวน ๙ พระองค์ สภาพกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นประชากรของประเทศยังคงน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ทั้งหมด สังคมความเป็นอยู่ยังคงยึดถือสืบเนื่องมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีการจัดระเบียบทางสังคมด้วยระบบเจ้าขุนมูลนาย ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ ผลิตสินค้าเกษตร จำพวกน้ำตาล พริกไทย และหาของป่าจำพวกไม้สัก ไม้พยุง ไม้กฤษณาและไม้ฝาง การปลูกข้าวเป็นอาชีพหลัก ผลผลิตที่ได้จะใช้บริโภคและส่งออกขายเฉพาะส่วนที่เหลือจากการบริโภคแล้วเท่านั้น เนื่องจากบ้านเมืองยังคงตกอยู่ในสภาวะสงคราม การติดต่อค้าขายกับต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นการทำการค้ากับประเทศจีน อยู่ภายใต้ความควบคุมของพระมหากษัตริย์โดยมีกรมพระคลังสินค้าเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ทางการค้า ต่อมามีการเซ็นสัญญาบาวริงในปี พ.ศ.๒๓๙๘ การผูกขาดทางการค้าถูกทำลาย ระบบการค้าเสรีเริ่มเกิดขึ้นและขยายกว้างขวางออกไปทำให้การค้าขายเจริญมากขึ้น มีชาวต่างชาติเข้ามาติดต่อซื้อขายกับไทยอย่างมากมาย เช่น อังกฤษซึ่งเข้ามาทำอุตสาหกรรมป่าไม้ในไทย สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เดนมาร์ก โปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ ปรัสเซีย สวีเดน รุสเซีย เป็นต้น ข้าว ได้กลายเป็นสินค้าสำคัญเป็นอันดับหนึ่งในการส่งเป็นสินค้าออกไปขายยังต่างประเทศ นอกจากนั้นยังมีพืชเศรษฐกิจอื่นๆรวมถึงสินค้าที่เกิดจากการแปรรูปผลผลิตทางด้านเกษตรกรรม ทำให้เกิดการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจทั้งในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนด้านสังคมในปี พ.ศ.๒๔๗๕ จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงระเบียบสังคม เป็นสังคมระบอบประชาธิปไตย ประชาชนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันทางด้านกฎหมาย ในด้านการศาสนาหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าแล้ว วัดวาอารามต่างๆ รวมทั้งคัมภีร์ทางศาสนาถูกทำลายเสียหายเป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯให้ทำนุบำรุงพระศาสนา โปรดฯให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดประจำพระนคร แล้วทรงอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกตจากเมืองเวียงจันทร์มาประดิษฐานเพื่อให้เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง โปรดเกล้าฯให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกและให้ถือเป็นธรรมเนียมที่จะให้พระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีช่วยกันบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามที่ชำรุดทรุดโทรม ส่วนการปกครองคณะสงฆ์ยังคงใช้แบบอย่างของกรุงศรีอยุธยา มีการสอบไล่พระปริยัติธรรมสำหรับพระภิกษุสามเณรโดยนับเป็นข้าราชการแผ่นดินอย่างหนึ่งด้วย ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ทรงแบ่งการปกครองคณะสงฆ์ออกเป็น ๔ คณะ คือ คณะเหนอ คณะใต้ คณะกลางและคณะอรัญวาสี เจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งทรงผนวชอยู่ที่วัดสมอราย ได้ทรงประกาศประดิษฐานนิกายธรรมยุติขึ้นในพุทธศาสนาศิลปกรรมในด้านต่างๆ ยังคงเลียนแบบอยุธยาตอนปลาย เช่น การสร้างพระพุทธรูปส่วนมากสร้างขึ้นตามแบบพระพุทธรูปที่มีมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา นิยมสร้างพระพุทธรูปองค์เล็กๆ มากขึ้น และมักสร้างเป็นภาพเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติตอนต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ นิยมสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ เช่น พระศรีอาริยเมตไตรย์และสาวกที่ครองผ้าอุตราสงค์เป็นลายดอก ส่วนสถาปัตยกรรมในตอนแรกยังคงเป็นแบบสมัยอยุธยาตอนปลาย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ ทรงนิยมศิลปะแบบจีนทำให้เกิดศิลปะผสมผสานระหว่างไทยจีน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา อิทธิพลของชาติตะวันตกได้เข้ามาสู่ประเทศไทยทำให้รูปแบบสถาปัตยกรรมกลายเป็นแบบตะวันตกมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน


แหล่งที่มา : sites.google.com

อัพเดทล่าสุด