ประโยชน์ของพริก ทำ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่มาจากพืช


2,012 ผู้ชม


ประโยชน์ของพริก ทำ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่มาจากพืช

 


 • ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
                        

               มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพริกว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายอย่าง   การวิจัยและพัฒนาของ รศ.ดร.สุวรรณ  ธีระวรพันธ์, รศ.ดร.วิสุดา  สุวิทยาวัฒน์ และคณะจากมหาวิทยาลัยมหิดล   ผศ.ดร.ศักดิ์ชัย   วิทยาอารีย์กุล และคณะ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร  แล ผศ.ดร.อัมพร   จาริยะพงศ์สกุล, ผศ.ดร.สุวรา   วัฒนพิทยกุล จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ   จึงเลือกเอาฤทธิ์ต่อระบบไหลเวียนโลหิต ซึ่งมักจะเป็นปัญหาในผู้สูงอายุ  ในการวิจัยมีการพัฒนาตำรับยาแคปซูล และทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดและผลิตภัณฑ์พบว่า

1. สามารถลดและป้องกันความรุนแรงของการเพิ่มระดับไขมันชนิดที่เป็นอันตราย และความเสี่ยงการเกิดหลอดเลือดแข็ง   สารสกัดและผลิตภัณฑ์พริกขนาด 0.25-4.0 มก./กก./วัน  (มีปริมาณ capsaicinoids  เทียบเท่าที่มีในพริกกะเหรี่ยงแห้ง 0.79-12.64 มก./กก./วัน)  สามารถลดและป้องกันความรุนแรงของการเพิ่มระดับไขมันชนิดที่เป็นอันตราย (คอเลสเทอรอล และ LDL)  และความเสี่ยงการเกิดหลอดเลือดแข็ง รวมทั้งลดการสะสมไขมันและความผิดปกติที่ผนังหลอดเลือดแดงใหญ่  โดยขนาดสูงให้ผลใกล้เคียงกับยาลดไขมัน simvastatin ขนาด 40 มก./กก./วัน

การให้สารสกัดและผลิตภัณฑ์พริกขนาดดังกล่าวครั้งเดียว  สามารถลดความดันเลือดในหนูปกติได้ใกล้เคียง  แต่ออกฤทธิ์ช้ากว่าและสั้นกว่ายาลดความดันเลือด captopril ขนาด 25.0 มก./กก.   รวมทั้งลดอัตราการเต้นหัวใจได้ใกล้เคียงและเร็วแต่มีฤทธิ์สั้นกว่า  นอกจากนี้การให้ทุกวันเป็นเวลา 8 สัปดาห์สามารถป้องกันการเพิ่มความดันเลือดในหนูที่มีภาวะคอเลสเทอรอลสูง

สารสกัดและผลิตภัณฑ์จากพริก ไม่มีผลต่อไตและมีผลปกป้องตับ

2. ผลต่อการไหลเวียนเลือดของสมองในหนูขาวที่ถูกทำให้เบาหวานด้วยสารสเตรปโตโซโตซิน    เมื่อทดสอบผลของสารสกัดพริกต่ออัตราการไหลเวียนเลือดที่สมองและการเกาะติดของเม็ดเลือดขาวบนเซลล์เอนโดทีเลียมในหลอดเลือดดำของสมองในหนูที่เป็นเบาหวานพบว่า   สารสกัดพริกในระดับ 0.25 มก./กก. ตัว 1 กก. หรือเทียบเท่าพริกกะเหรี่ยง 10.66 มก.  ให้ผลที่ไม่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสารสกัดพริก    การให้สารสกัดพริกขนาดต่ำ ๆ  ป้อนทางปากอย่างต่อเนื่องในหนูที่เป็นเบาหวานสามารถ :
               (1) ป้องกันการลดลงของอัตราการไหลเวียนเลือดในสมอง
               (2) ป้องกันการสูญเสียหน้าที่ของเซลล์เอนโดทีเลียม โดยลดการเกาะติดของเซลล์เม็ดเลือดขาว
               (3) ลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือดที่สูงผิดปกติในหนูที่เป็นเบาหวาน
3. ผลต่อการทำงานของเยื่อหุ้มหลอดเลือด  เซลล์เยื่อบุหลอดเลือดเป็นเซลล์เรียงกันอยู่เพียงชั้นเดียว  ครอบคลุมหรือบุชั้นในสุดของหลอดเลือด ทำหน้าที่สร้างไนตริกออกไซด์ ซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติขยายหลอดเลือด  รักษาสมดุลของความตึงหลอดเลือด  มีส่วนในการควบคุมความดันโลหิต  การสูญเสียหน้าที่ของเซลล์ ทำให้มีการสร้างไนตริกออกไซด์ลดลง  ซึ่งอาจเกิดจากเซลล์ถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระ  ดังนั้นการให้สารที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและกระตุ้นการสร้างไนตริกออกไซด์  จึงมีประโยชน์ในการสร้างเสริมสุขภาพของเซลล์เยื่อบุหลอดเลือดและป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ 
               จากการทดสอบพบว่า  สารสกัดพริกและ capsaicin  กระตุ้นการหลั่งไนตริกออกไซด์ได้ในความเข้มข้นที่ใช้ทดสอบ โดยสารสกัดพริกที่ความเข้มข้น 1,10 และ 100 ไมโครกรัม/มล.  เพิ่มปริมาณการสร้างไนตริกออกไซด์ได้ 20%, 34% และ 39% ตามลำดับ   ส่วน capsaicin ที่ความเข้มข้น 1,10 และ 25 ไมโครโมลาร์  สามารถเพิ่มไนตริกออกไซด์ได้ 32%, 34% และ 35%  ตามลำดับ
4. ผลการป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของสารสกัดพริกและผลิตภัณฑ์ 
จากผลการทดลองในหนูขาวสรุปว่า สารสกัดพริกมีผลป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารที่เกิดจาก aspirin  ได้ดีกว่าแผลในกระเพาะอาหารที่เกิดจากความเครียด และสารสกัดพริกมีผลยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหารที่เกิดจาก aspirin ใกล้เคียงกับ cimetidine แต่มีผลยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหารที่เกิดจากความเครียดได้น้อยกว่า cimetidine ขนาด 100 มก./กก. ปริมาณพริกที่มีผลป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารจากการทดลองนี้เท่ากับปริมาณพริก (เผ็ดมาก) แห้ง 0.3  มก.
    
 • ผลิตภัณฑ์ยา 
 
               เป็นการศึกษาวิจัยของ รศ.ดร.วราภรณ์  จรรยาประเสริฐ จากมหาวิทยาลัยมหิดล และ ดร.อุรชา  รังสาดทอง จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ  โดยการใช้นาโนเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถซึมลงไปอย่างรวดเร็วเพื่อไปให้ถึงเส้นประสาท บริเวณผิวหนังด้านบน  เพื่อระงับการปวดปลายประสาท  ซึ่งจะพบในผู้ป่วยโรคเริมหรืองูสวัด  
  
 • ผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช
                   

               เป็นการวิจัยร่วมระหว่าง 2 มหาวิทยาลัยคือ ผศ.ดร.ทัศนา   พิทักษ์สุธีพงษ์ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร และ รศ.ดร.ไสว  บูรณพานิชพันธุ์ และผศ.ดร.เกวลิน  คุณาศักดากุล จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวรได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ไมโครอิมัลชั่นของสารสกัดพริกและพริกไทย  ซึ่งเมื่อไปผสมน้ำจะเข้ากันเป็นลักษณะน้ำนมขาว  สามารถนำไปใช้ฉีดพ่นกำจัดศัตรูพืช

ในการทดลองของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่า

(1) การยับยั้งการเจริญของเชื้อ Xanthomonas campestris สาเหตุโรคเน่าดำ (black rot) ทุกสารสกัดในทุกระดับความเข้มข้น สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อได้ดีมาก  โดยเฉพาะสารสกัดพริกไทยและพริกผสมพริกไทย
(2) การยับยั้งการเจริญของเชื้อ Alternaria  brassicicola สาเหตุโรคใบจุด (leaf spot)
               i. เชื้อมีอัตราการเจริญลดลง  เส้นใยอัดแน่นและหนา โดยเฉพาะสารสกัดพริกไทย  สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อได้ดีที่สุด  ไม่พบเชื้อเจริญออกมาจากชิ้น culture disc ของเชื้อเลย
               ii. การแช่ culture disc ของเชื้อในสารสกัดนั้นพบว่า สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อได้ในช่วง 3-5 วันแรก  แต่พบว่าการเจริญของเชื้อที่แช่ในสารสกัดพริกผสมพริกไทยที่ความเข้มข้น 1.5  และ 3.0%  มีการสร้างเส้นใยและสปอร์น้อยลง
               iii. เมื่อตรวจดูภายใต้กล้องจุลทรรศน์  พบว่าการเจริญของเชื้อบน WA ผสมสารสกัดทุกชนิดในทุกความเข้มข้น  มีการเจริญที่ผิดปกติ  โดยเส้นใยมีผนังกั้นตามขวางถี่มากขึ้น  ผนังเส้นใยหนา  มีลักษณะบวมพองเป็นปม สร้างสปอร์ได้น้อยลง และพบเส้นใยเชื้อราที่เลี้ยงในสารสกัดพริกผสมพริกไทยที่ความเข้มข้น 3.0 %   มีลักษณะลีบผอมบางและสลายตัวจำนวนมาก
(3) การทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดต่อแมลงศัตรูพืช
               i. หนอนใยผัก (diamondback moth, Plutella xylostella)   
          สารสกัดพริกและพริกไทยไม่มีประสิทธิภาพในการฆ่าหนอนเมื่อทดสอบฤทธิ์ทางการกิน (oral toxicity test)  แต่มีประสิทธิภาพดีเมื่อทดสอบฤทธิ์ทางผิวหนัง (dermal toxicity test)  โดยสารสกัดพริกและพริกไทยที่ความเข้มข้น 3.0% สามารถฆ่าหนอนได้ 76.67 และ 70.00% ตามลำดับ  ค่า LC50 (ทางสัมผัส) ของสารสกัดจากพริกและพริกไทยที่มีต่อหนอนใยผักมีค่าเท่ากับ 2.2062 และ 2.6134% ตามลำดับ 
               ii. หนอนกระทู้ผัก (common cutworm, Spodoptera litura)   
          สารสกัดพริกและพริกไทยสามารถทำให้หนอนตายได้เฉพาะเมื่อทดสอบทางผิวหนังเท่านั้น  โดยสารสกัดพริกที่ความเข้มข้น 2.0 และ 3.0%  มีประสิทธิภาพสูง ทำให้หนอนตาย 70.00 และ 63.33% ตามลำดับ   ส่วนค่า LC50 (ทางสัมผัส)  ของสารสกัดจากพริกที่มีต่อหนอนกระทู้ผักมีค่าเท่ากับ 1.8098%
  
 • ผลิตภัณฑ์แก้ง่วง
 เนื่องจากพริกมีรสเผ็ด และการศึกษาเบื้องต้นพบว่า แก้ง่วงได้  รศ.วิมล  ศรีศุข จึงได้ลองพัฒนารูปแบบของยาแก้ง่วง 3 รูปแบบคือ
               1. สเปรย์
               2. แผ่นฟิล์ม
               3. ลูกอมเจลาติน
               สำหรับการทดสอบดำเนินการเสร็จเพียง 1 ผลิตภัณฑ์คือ ผลิตภัณฑ์ชนิดพ่น พบว่า ผลิตภัณฑ์ชนิดฉีดพ่นในปากเพื่อใช้แก้ง่วงจากสารสกัดพริกเหลืองที่เตรียมได้ มีสีส้มน้ำตาล ใส รสเผ็ด หวาน มีปริมาณสาร capsaicinoids 9.96 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร  ผลิตภัณฑ์แสดงฤทธิ์กระตุ้น ในอาสาสมัครมีผลเพิ่มความดันโลหิตและทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นได้ในทันที หลังฉีดพ่น โดยผลกระตุ้นคงอยู่นานอย่างน้อย 4 นาที    และเมื่อนำไปใช้งานในสภาวะจริง เมื่อเกิดอาการง่วงนอนขณะอ่านหนังสือหรือทำงาน พบว่า สามารถกระตุ้นให้ตื่นได้ภายในเวลาน้อยกว่า ½ นาที  และการตื่นตัวคงอยู่นานกว่า 10 นาที
 


แหล่งที่มา : vcharkarn.com

อัพเดทล่าสุด