อัลตร้าซาวด์ดูเพศ ภาพอัลตร้าซาวด์ทารกเพศหญิง อัลตร้าซาวด์ บ่อย อันตรายไหม อัลตร้าซาวน์ดูเพศเด็กหญิงหรือชาย


15,665 ผู้ชม


อัลตร้าซาวด์ดูเพศ ภาพอัลตร้าซาวด์ทารกเพศหญิง อัลตร้าซาวด์ บ่อย อันตรายไหม อัลตร้าซาวน์ดูเพศเด็กหญิงหรือชาย

 

 

อัลตร้าซาวน์ด... จำเป็นแค่ไหน

ขอขอบคุณข้อมูลนิตยสาร modern mom 

          วิทยาการด้านการแพทย์ได้ก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง ความคาดหวังจากการดูแลรักษาคุณแม่ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ก็เพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลา ทุกวันนี้จึงมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย และสามารถสื่อสารกับทารกในตั้งครรภ์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ นั่นก็คือการทำอัลตร้าซาวน์ด 

ไม่มีแม่ท้องไม่รู้จัก

          หากพูดเช่นนี้คงไม่ผิดครับ เพราะคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนล้วนรู้จักและเคยผ่านการทำอัลตร้าซาวน์ดมาแล้วทั้งนั้น เพราะเครื่องอัลตร้าซาวน์ดคือเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง ที่คุณหมอสูติฯ ใช้ในการตรวจวินิจฉัยและติดตามภาวะของทารกในครรภ์ มาประมาณครึ่งศตวรรษแล้วเห็นจะได้ สำหรับสูตินรีแพทย์แล้ว เครื่องอัลตร้าซาวน์ดจึงเปรียบเสมือนมือขวาของพวกเราทีเดียว หากปราศจากเครื่องดังกล่าวแล้วละก็ เราแทบจะไม่สามารถวินิจฉัยความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ตั้งครรภ์ได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว จนช่วยให้การรักษาภาวะผิดปกติทำได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที
 เพราะฉะนั้นวิวัฒนาการของเครื่องอัลตร้าซาวน์ดจึงพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว อย่างไม่หยุดยั้ง และยังมีใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งในโรงพยาบาลของรัฐทั้งระดับจังหวัดและอำเภอ โรงพยาบาลเอกชน รวมทั้งคลินิกต่างๆ จนทำให้ว่าที่คุณแม่สับสนว่า จริงๆ แล้วหากผู้หญิงคนหนึ่งตั้งครรภ์ควรต้องทำการตรวจอัลตร้าซาวน์ดเพื่อดูอะไรบ้างของทารกในครรภ์ และจะต้องตรวจสักกี่ครั้งจึงจะเหมาะสม

จำนวนครั้งที่ควรทำ
 
          บ้างบอกว่า 1-2  ครั้ง หรือมีแม้กระทั่งว่าที่คุณแม่บางคนอัลตร้าซาวน์ดเป็นจำทุกเดือนที่ไปพบคุณหมอ ซึ่งจริงๆ แล้ว ตอนนี้ยังไม่มีข้อกำหนดที่เป็นมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุข ว่าการตรวจครรภ์ด้วยเครื่องอัลตร้าซาวน์ดระหว่างตั้งครรภ์ควรจะทำกันกี่ครั้ง แต่ถ้ายึดตามคำแนะนำของวิทยาลัยสูตินรีแพทย์อเมริกัน ก็แนะนำให้ทำเพียงครั้งเดียวตอนอายุครรภ์ประมาณ 16-20 สัปดาห์
 
          ตามความเห็นของหมอในฐานะสูตินรีแพทย์ก็เห็นด้วยว่า ว่าที่คุณแม่ควรได้รับการตรวจด้วยเครื่องอัลตร้าซาวน์ดอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงอายุครรภ์ดังกล่าว เพื่อวินิจฉัยตำแหน่งของการตั้งครรภ์ ขนาดของทารกในครรภ์ ความผิดปกติของรูปร่าง การทำงานของอวัยวะต่างๆ การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ รวมถึงความผิดปกติโดยกำเนิดที่เกิดกับอวัยวะต่างๆ ที่สะท้อนถึงสุขภาพของทารกครับ
 
          แต่สำหรับว่าที่คุณแม่ที่เป็นกลุ่มคนไข้พิเศษ เช่น ผู้ที่มีบุตรยากและตั้งครรภ์ด้วยการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ หรือเป็นกลุ่มที่เป็นครรภ์เสี่ยงสูง เช่น ตั้งครรภ์แฝด มีภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ตั้งแต่ไตรมาสแรกจนถึงไตรมาสสุดท้าย ควรที่จะได้รับการตรวจเพิ่มเติมตามอายุครรภ์ต่อไปนี้
 
          + อายุครรภ์ 7-9 สัปดาห์ การตรวจด้วยเครื่องอัลตร้าซาวน์ดทางช่องคลอด จะช่วยให้รู้ว่า การตั้งครรภ์อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องหรือไม่ มีตัวเด็กหรือไม่ เป็นการตั้งครรภ์เดี่ยวหรือแฝด มีเลือดออกอยู่ใต้รกหรือไม่ ไข่ตกจากรังไข่ข้างใด รังไข่มีซีสต์หรือไม่ ตัวมดลูกมีเนื้องอกร่วมกับการตั้งครรภ์หรือเปล่า 
 นอกจากนี้ ยังสามารถทำนายอายุครรภ์ได้แม่นยำ โดยมีความผิดพลาดประมาณ 3 วันเท่านั้น ซึ่งการตรวจในช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในอนาคต เพราะเป็นข้อมูลอ้างอิงสำหรับการตรวจในครั้งต่อๆ ไปอีกด้วย
          + อายุครรภ์ 11-13 สัปดาห์ การตรวจด้วยเครื่องอัลตร้าซาวน์ดทางช่องคลอด จะวัดขนาดความยาวของทารกที่เรียกว่า Crown Rump Length วัดความหนาของท้ายทอยทารก ตรวจหากระดูกจมูก ซึ่งช่วยในการทำนายโอกาสที่ทารกจะมีความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 21 ที่เรียกว่าดาวน์ซินโดรมได้กว่าร้อยละ 70 เมื่อรวมกับการตรวจวัดระดับฮอร์โมนของแม่แล้ว จะสามารถคำนวณออกมาเป็นโอกาสเสี่ยงที่ทารกจะเป็นดาวน์ซินโดรมได้แม่นยำมากขึ้นถึงประมาณร้อยละ 78 นอกจากนี้ยังสามารถบอกตำแหน่งที่รกเกาะได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจะช่วยในการเฝ้าติดตามตำแหน่งของรกในอนาคตต่อไป
          + อายุครรภ์ 18-24 สัปดาห์ เป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่จะสามารถตรวจทารกในครรภ์ทั้งตัว ได้แก่ ส่วนศีรษะ แขน ขา ลำตัว และอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ กระบังลม ปอด ตับ ไต กระเพาะปัสสาวะ กระเพาะอาหาร เป็นต้น ในกรณีที่มีความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิด ซึ่งเป็นความผิดปกติที่พบได้บ่อย ก็สามารถที่จะปรึกษาสูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้การดูแลรักษาต่อไป และช่วงเวลานี้ยังเหมาะสำหรับการเจาะน้ำคร่ำ เพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์โครโมโซมของทารกในครรภ์
          + อายุครรภ์ 32-34 สัปดาห์ เป็นช่วงเวลาที่จะทำการตรวจทารกในครรภ์ เพื่อที่จะบอกถึงความสมบูรณ์ของทารก ความสมบูรณ์ของใบหน้า อวัยวะต่างๆ และขนาดของทารก ซึ่งสามารถบอกได้ว่า ทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตตามเกณฑ์ โตเกินไป หรือเติบโตช้า เป็นต้น เพื่อทำนายน้ำหนักแรกคลอด
 
          นอกจากนั้น หลังจากช่วงเวลานี้ทารกในครรภ์มักจะไม่เปลี่ยนท่าอีกแล้ว เช่น หากอยู่เป็นท่าก้นหรือท่าศีรษะก็จะอยู่ในท่านั้นจนกระทั่งครบกำหนดคลอด ว่าที่คุณแม่ก็จะรู้ได้ว่า สามารถคลอดธรรมชาติได้หรือไม่ เพราะมีเพียงส่วนน้อยที่ทารกจะเปลี่ยนท่าไปจากเดิม

          คุณแม่ผู้อ่านคงจะเห็นแล้วว่า การตรวจครรภ์ด้วยเครื่องอัลตร้าซาวน์ดในช่วงเวลาต่างๆ มีหลักการ เหตุผล และประโยชน์จากการตรวจแตกต่างกันไป และหากมีภาวะเสี่ยงอื่น เช่น มีเลือดออกในระยะ 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ สงสัยว่ามีความผิดปกติของหัวใจ หรือสงสัยว่าทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ เป็นต้น ก็จำเป็นที่จะต้องตรวจอัลตร้าซาวน์ดเพิ่ม เพื่อประเมินสถานะภาพของทารกในครรภ์เพิ่มเติมครับ

          การอัลตร้าซาวน์ดนอกจากจะมีประโยชน์ในการดูแลสุขภาพของแม่และลูกในครรภ์แล้ว ผลพลอยได้อีกอย่างก็คือว่าที่คุณแม่และว่าที่คุณพ่อยังสามารถเก็บภาพแห่งความประทับใจ เพื่อนำไปบอกเล่ากับญาติพี่น้อง หรือแม้กระทั่งกับเจ้าตัวเล็กที่กำลังจะเติบโตมาในอนาคตได้อีกด้วยครับ

 

แหล่งที่มา : vcharkarn.com

อัพเดทล่าสุด