อาการคนท้องระยะ 1 สัปดาห์ อาการคนท้อง 1 สัปดาห์แรก อาการคนท้อง ตกขาว


23,189 ผู้ชม


อาการคนท้องระยะ 1 สัปดาห์ อาการคนท้อง 1 สัปดาห์แรก อาการคนท้อง ตกขาว

 

 

1-10 สัปดาห์ แรกของการตั้งครรภ์

ไตรมาสที่ 1 

Week 1- 4   “การเดินทางครั้งใหม่เริ่มขึ้นแล้ว” 

เกิดอะไรขึ้นกับคุณแม่ 

เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ คุณแม่ส่วนใหญ่จะรับรู้ถึงอาการผิดปกติบางอย่าง เพราะฮอร์โมนของการตั้งครรภ์จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและก่อให้เกิดอาการต่างๆ  เริ่มตั้งแต่เมื่อเกิดการปฎิสนธิ ร่างกายแม่จะมีการสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ที่จะคอยทำหน้าที่ช่วยฟูมฟักตัวอ่อน และเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกให้หนาขึ้น เพื่อรอรับตัวอ่อนที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วมาฝังตัว และเมื่อตัวอ่อนฝังตัวเรียบร้อยแล้วเนื้อเยื่อของตัวอ่อนจะผลิตฮอร์โมน HCG (Human Chorionic Gonadotrophin) เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายปรับสภาพเข้ากับภาวะการตั้งครรภ์ ทั้งนี้การตรวจว่าได้ตั้งครรภ์แล้วหรือไม่ ก็คือการตรวจจากระดับฮอร์โมน HCG ตัวนี้นั่นเอง 

อาการที่เป็นตัวบ่งชี้ว่าคุณแม่เริ่มตั้งครรภ์ ที่ทุกคนทราบดีอยู่แล้วก็คือ ประจำเดือนขาด แต่ถ้าเดือนไหนมีอาการเครียด หรือเจ็บป่วยมาก  ประจำเดือนก็อาจจะเลื่อนกำหนดออกไปได้เช่นกัน

                 ปัสสาวะบ่อย เนื่องจากมดลูกที่ยืดขยายจากการตั้งครรภ์ ไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ  ซุ่งอยู่ทางด้านหน้า  ทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น 

คุณต้องระวังอะไรบ้าง 

ในช่วงแรกคุณแม่หลายท่านอาจจะยังไม่รู้ว่าตนเองตั้งครรภ์ จึงไม่ได้ระมัดระวังอะไรเป็นพิเศษ แต่ถ้าไม่แน่ใจสิ่งที่ต้องระวัง ก็คือเรื่องอาหาร ควรกินอาหารที่มีประโยชน์หลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นโทษต่อร่างกาย  งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง  เมื่อต้องทานยาใดๆ 

เกิดอะไรขึ้นกับลูก

เมื่ออสุจิที่แข็งแรงที่สุด สามารถวิ่งเข้าเส้นชัยเข้าไปอยู่ในไข่ที่สุกพอดี ก็จะเกิดการปฏิสนธิกันขึ้น จากนั้นไข่กับอสุจิก็จะผสมกันจนกลายเป็นตัวอ่อน ก็จะเริ่มแบ่งตัวต่อไปและขณะเดียวกันเดินทางไปสู่โพรงมดลูก เพื่อหาที่อยู่ที่เหมาะสม และเจริญเติบโตต่อไป ทั้งหมดนี้ใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน ตัวอ่อนจะพัฒนาตัวเองจนมีการแบ่งเซลล์ถึง100-120 เซลล์ เรียกตัวอ่อนในระยะนี้ว่า   บลาสโตซิสท์  (มีขนาดเท่าหัวเข็มหมุด) ซึ่งจะฝังตัวลงไปในเยื่อบุโพรงมดลูกของมารดา ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ต่อไป

ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ 4 นี้จะเริ่มมีถุงน้ำคร่ำเกิดขึ้นแล้ว ถุงน้ำคร่ำนี้ทำหน้าที่ป้องกันตัวอ่อนจากสิ่งแวดล้อม ป้องกันการกระทบกระเทือน รวมถึงช่วยควบคุมอุณหภูมิ 

ความยาวของตัวอ่อนในช่วงสัปดาห์ที่ 4 จะยาวเพียง ¼ นิ้วเท่านั้น ซึ่งจะประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อ 3 ชนิด โดยชนิดแรกจะเจริญต่อไปเป็นผม เล็บ หูส่วนใน เลนส์ตาเป็นต้น ชนิดที่สอง จะพัฒนาเป็นระบบประสาท จอตา ต่อมใต้สมอง กระดูก กล้ามเนื้อ เซลล์เลือด เซลล์น้ำเหลือง ชนิดที่สามจะพัฒนาไปเป็นปอด หลอดลม ระบบทางเดินอาหาร ตับ ตับอ่อน กระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น

Week 5 “สมองลูกเริ่มสร้างตัวแล้ว” 

เกิดอะไรขึ้นกับคุณแม่ 

การตั้งครรภ์ทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ฮอร์โมนโปรเจสเทอโรน ที่ช่วยให้กล้ามเนื้อมดลูกคลายตัว ลดความดันโลหิต ส่วนฮอร์โมนเอสโตรเจนช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนม เสริมสร้างมดลูกให้แข็งแรง ฮอร์โมน HCG เป็นฮอร์โมนที่ผลิตออกมาจากรกทันทีที่มีการตั้งครรภ์ ซึ่งผลของการตรวจปัสสาวะว่าตั้งครรภ์หรือไม่ก็คือการตรวจดูว่ามีฮอร์โมนตัวนี้นั่นเอง 

เมื่อทราบผลที่ชัดเจนแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การฝากครรภ์กับสูตินรีแพทย์ เพื่อให้แพทย์ดูแลคุณแม่ตลอดการตั้งครรภ์กระทั่งคลอดลูกอย่างปลอดภัย

ในช่วงนี้คุณแม่บางท่านอาจจะสังเกตการเปลี่ยนแปลงร่างกายของตนเองได้ชัดเจนขึ้น จากอาการดังต่อไปนี้คือ มีอาการคล้ายตอนก่อนมีประจำเดือน มีอาการคัดหน้าอกลานหัวนมสีเข้มขึ้น ง่วงนอนและหาวนอนบ่อยๆ 

เหนื่อยง่ายขึ้น ต้องการพักผ่อนมากขึ้น ถ้าการทำงานคุณต้องเคลื่อนไหวมาก ก็ควรหาเวลาพักบ่อยๆ

เริ่มมีอาการแพ้ท้อง บางท่านอาจจะรู้สึกคลื่นไส้ อยากอาเจียนในช่วงเช้าๆ หลังตื่นนอน หรือ เวลาใดก็ได้ตลอดวัน แต่มักจะเป็นในช่วงที่ท้องว่างๆ (บางคนอาจจะไม่มีอาการแพ้ใดๆ เลยก็ได้)

มีน้ำลายมากกว่าปกติ เบื่ออาหาร วิงเวียนศีรษะ

แพ้ท้อง

อาการแพ้ท้องมักเกิดในช่วงเช้ามากที่สุด เชื่อว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน HCG ถ้ามีระดับสูงก็จะมีการแพ้ท้องสูง ส่วนมากแล้วอาการแพ้ท้องจะดีขึ้นหลังจากตั้งครรภ์ไปถึงสัปดาห์ที่ 14 – 16 หรืออาจจะเร็วกว่านี้ก็ได้ ซึ่งตามปกติอาการแพ้ท้องไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อลูกในท้องแต่อย่างใด แต่ถ้ามีอาการมาก น้ำหนักลดมากผิดปกติ หรือแพ้ท้องยาวนาน ควรได้รับการรักษาจากแพทย์

ดูแลยามแพ้

- รับประทานอาหารครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยๆ อาจแบ่งมื้ออาหารเป็น 5-6 มื้อต่อวัน เพื่อไม่ให้ท้องว่าง หรือแน่นจนเกินไป

- หลีกเลี่ยงอาหารทอด อาหารมัน หรืออาหารที่มีเครื่องเทศมาก เพราะกลิ่นอาจทำให้อยากอาเจียน 

- ไม่ควรลุกจากที่นอนทันทีหลังตื่นนอน อาจจะรับประทานขนมปังกรอบ คุกกี้ แบบเค็ม น้ำมะนาวอุ่นๆ สักแก้วแล้วหลับต่อสัก 30 นาที   ก่อนลุกจากที่นอน จะช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ 

- จิบน้ำขิงอุ่นๆ จะช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้

- หลังจากอาเจียน กลั้วปากด้วยน้ำอุ่น ช่วยล้างกลิ่นและคราบอาหารที่ติดอยู่ในช่องปาก เพื่อลดอาการพะอืดพะอม 

- ทำจิตใจให้สบาย เพราะคุณแม่หลายท่านมักกังวลกับการตั้งครรภ์มากเกินไป 

วิธีคำนวณวันคลอด 

สัปดาห์นี้ส่วนใหญ่ คุณแม่จะได้ฝากท้องแล้ว คุณหมอจะแนะนำในเรื่องการดูแลสุขภาพ การให้ยาวิตามิน และบอกวันคลอดคร่าวๆ ซึ่งวิธีคำนวณวันคลอดก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร มีสูตรง่ายๆ คือ 

วันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย + 7 = วันที่ ของวันคลอด

เดือนที่มีประจำเดือนมาครั้งสุดท้าย – 3 = เดือนที่เป็นเดือนคลอด 

เช่น ประจำเดือนมาครั้งสุดท้าย วันที่ 7 ธันวาคม ฉะนั้น วันกำหนดคลอดคือ วันที่ 14 กันยายน (ครบกำหนด 40 สัปดาห์) 

คุณต้องระวังอะไรบ้าง 

  การตั้งครรภ์ในช่วงแรกถึงแม้ร่างกายภายนอกยังไม่เปลี่ยนแปลง แต่ระบบหมุนเวียนโลหิตทำงานหนักขึ้น หัวใจทำงานหนักขึ้น คุณแม่จะรู้สึกเหนื่อยง่าย ฉะนั้นควรหาเวลาพักผ่อนในช่วงกลางวัน อาจจะนั่งพักเอนหลัง หรือหาเวลางีบในช่วงบ่าย จะทำให้คุณแม่สดชื่นขึ้น

เกิดอะไรขึ้นกับลูก 

ลูกน้อยมีขนาดเท่าๆ กับผลองุ่น สร้างหัวใจครบ 4 ห้อง และหัวใจเริ่มทำงาน เริ่มสร้างเพดานปาก

 

Week 6 “โครงสร้างกระดูกเริ่มขึ้นแล้ว” 

เกิดอะไรขึ้นกับคุณแม่ 

คุณแม่บางท่านอาจเริ่มแพ้ท้องในสัปดาห์นี้ และมักมีอาการท้องผูก ถึงแม้คุณจะเป็นคนที่มีระบบขับถ่ายปกติมาก่อนการตั้งครรภ์ ก็อาจเกิดการท้องผูกขึ้นได้เช่นกัน 

ท้องผูก

อาการท้องผูกในช่วงตั้งครรภ์นี้เกิดจากฮอร์โมนโปรเจสเทอโรนที่ทำให้กล้ามเนื้อลำไส้ทำงานน้อยลง อาหารผ่านไปได้ช้ากว่าปกติ น้ำที่อยู่ในอาหารจึงถูกดูดซึมเข้าร่างกายมากขึ้น ทำให้อุจจาระแห้ง เกิดอาการท้องผูกตามมา

วิธีแก้

- ดื่มน้ำให้มากขึ้น

- ดื่มน้ำผลไม้เช่น น้ำส้ม น้ำมะเขือเทศ คั้นสด และกินผลไม้สด ผักที่มีกากใย ธัญพืชต่างๆ 

- การออกกำลังกายเบาๆ เช่น เดินวันละ 10-15 นาที ในตอนเช้า นั่งพักสักครู่ดื่มน้ำอุ่น หรือนมอุ่นๆ 

- ไม่ควรใช้ยาระบายเอง ถ้าท้องผูกมาก ควรปรึกษาแพทย์

คุณต้องระวังอะไรบ้าง 

ต้องระมัดระวังในเรื่องการใช้ยาต่างๆ ให้ดี โดยเฉพาะคุณแม่ที่ต้องรับประทานยารักษาโรคประจำตัว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องบอกคุณหมอที่ไปฝากครรภ์อย่างละเอียด ถ้าไม่แน่ใจควรงดยานั้นๆ ไว้ก่อน และไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะในช่วงไตรมาสแรกนี้ เป็นช่วงที่ลูกน้อยกำลังสร้างอวัยวะพื้นฐานที่สำคัญทั้งหมด 

หลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นพิษเริ่มตั้งแต่ แอลกอฮอล์ ควันบุหรี่ สถานที่ที่มีมลพิษสูง เช่น กลิ่นสี ยาฆ่าแมลง 

เกิดอะไรขึ้นกับลูก 

สัปดาห์นี้ตัวอ่อนมีขนาดเท่ากับเล็บนิ้วก้อย ถ้าทำการอัลตร้าซาวด์ก็จะเห็นรูปทรงของหัวกับรอยโค้งของกระดูกสันหลังได้ชัดเจน เริ่มมีหนังตา หู มือ และเท้า ที่เป็นรูปเป็นร่างขึ้น หัวใจเต้นประมาณ 180 ครั้งต่อนาที 

 

Week 7 “คุณจะเริ่มมองเห็นอวัยวะของลูก” 

 

เกิดอะไรขึ้นกับคุณแม่ 

คุณแม่บางท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมตัวเองถึงต้องเข้าห้องน้ำบ่อย ปวดปัสสาวะเร็วขึ้น ก็มีอยู่ 2 เหตุประกอบกัน

ประการแรกเป็นผลมาจากฮอร์โมนอีกเช่นกัน เพราะระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนไปรบกวนการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งควบคุมกล้ามเนื้อ กระเพาะปัสสาวะก็เป็นกล้ามเนื้อเรียบเช่นเดียวกัน ดังนั้นเมื่อมีปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะเพียงเล็กน้อยก็ทำให้คุณแม่รู้สึกปวดปัสสาวะแล้ว

ประการที่สอง ขนาดที่โตขึ้นของมดลูกไปเบียดและกดทับกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งอยู่ทางด้านหน้าของมดลูก ทำให้ปัสสาวะบ่อย  

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องน่าวิตกกังวลแต่อย่างใด เพราะเป็นอาการปกติ ถ้าเข้าสู่การตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 (สัปดาห์ที่ 13 – 26) อาการปวดปัสสาวะบ่อยจะน้อยลงไปเอง แต่จะกลับมาเริ่มปวดบ่อยอีกในช่วงไตรมาสที่ 3 เนื่องจากศีรษะทารก  เคลื่อนลงมาเกาะกระเพาะปัสสาวะ 

คุณต้องระวังอะไรบ้าง 

คุณแม่ที่ชอบการออกกำลังกาย ยังสามารถออกกำลังกายได้ แต่ควรปรับเปลี่ยน เช่น จากการวิ่งก็มาเป็นเดินเร็ว หรือเดินไกวแขนแทน ไม่เล่นกีฬาที่จะได้รับความกระทบกระเทือนได้ง่าย แต่สำหรับคุณแม่ที่มีภาวะตั้งครรภ์ยาก แท้งคุกคาม หรือมีข้อบ่งชี้ด้วยสุขภาพที่ไม่แข็งแรง ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนการออกกำลังกาย 

 

เกิดอะไรขึ้นกับลูก 

ตัวอ่อนมีความยาวประมาณ 1.3 เซนติเมตร ระบบประสาทพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เริ่มมีการสร้างรูจมูก ริมฝีปาก ลิ้น และฟัน เริ่มมีการฟอร์มตัวในส่วนของมือ และแขน เริ่มสร้างตับ ปอด ไต และมีการพัฒนาลำไส้ใหญ่ ตัวอ่อนเริ่มเคลื่อนไหวได้ (ตรวจได้จากทางอัลตร้าซาวด์) 

Week 8 “คุณจะมองเห็นหัวใจลูกเต้นจากอัลตร้าซาวน์” 

 

เกิดอะไรขึ้นกับคุณแม่ 

ช่วงนี้จะมีอารมณ์แปรปรวนง่าย มีสาเหตุมาจากความเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย พร้อมๆ กับความวิตกกังวลในการตั้งครรภ์โดยเฉพาะการตั้งครรภ์แรก หรือการตั้งครรภ์ที่มีปัญหา คุณแม่มักจะคาดเดาอาการไปต่าง ๆ นานา เป็นห่วงลูกน้อย มีความสงสัยในการตั้งครรภ์ ซึ่งความเครียดระหว่างการตั้งครรภ์นี้ถึงแม้จะยังไม่มีผลงานวิจัยอะไรมายืนยันชัดเจนว่ามีผลต่อลูกในท้องหรือไม่ แต่ย่อมมีผลกับร่างกายคุณแม่เองอย่างแน่นอน เช่น ไม่อยากอาหาร นอนไม่หลับ ปวดหัว ซึ่งอาการทางกายของคุณแม่เหล่านี้ อาจจะส่งผลกระทบ ได้เช่นกัน ดังนั้นคุณแม่ควรทำจิตใจให้สบาย หาเวลาพักผ่อนให้เพียงพอ และไม่ควรเก็บความกังวลหรือสงสัย ควรพุดคุยกับคนรอบข้าง แลแพทย์ที่คุณแม่ฝากครรภ์

 

คุณต้องระวังอะไรบ้าง 

คุณแม่บางท่านอาจจะหลงลืมไปบ้างบางขณะ ว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์ จึงเผลอทำอะไรเร็วๆ หรือทำตามความเคยชิน ดังนั้นคุณแม่จึงต้องระมัดระวังเรื่องการ ยกของหนักการยืนนานๆ ให้มากเป็นพิเศษ เพราะในช่วงระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ตัวอ่อนอาจจะยังยึดติดกับโพรงไม่ลูกไม่แข็งแรงดีนัก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการแท้งได้ 

 

เกิดอะไรขึ้นกับลูก 

ในสัปดาห์นี้ ลูกในท้องคุณแม่จะเปลี่ยนจากสถานะตัวอ่อน มาเป็นทารกในครรภ์ แขนขายาวขึ้น ปลายของแขนขาก็มีร่องเล็กๆ ที่จะกลายเป็นมือและเท้าเล็กๆ ต่อไป มีขนาดตัวยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร (1 นิ้ว) สมองมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เริ่มสร้างสายสะดือ หูชั้นกลาง 

 

 

Week 9 “จากตัวอ่อนน้อยกลายเป็นเด็กน้อย” 

 

เกิดอะไรขึ้นกับคุณแม่ 

คุณแม่จะรู้สึกร้อนง่ายขึ้น เกิดจาการสันดาปในร่างกายที่เพิ่มขึ้น ฐานหัวนมมีคล้ำขึ้น มีตุ่มเล็กๆ เกิดขึ้นโดยรอบ เหงือกอ่อนนุ่มลง ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ถ้าแปรงฟันแรงอาจทำให้เลือดออกตามร่องฟันได้ง่ายขึ้น 

อะไรที่คุณต้องระวัง 

คุณแม่ควรดูแลรักษาสุขภาพในช่องปากให้ดี แปรงฟันให้สะอาด ผลของฮอร์โมนที่ปรับเปลี่ยนไป อาจทำให้เหงือกอักเสบได้ง่าย จึงต้องพิถีพิถันในเรื่องการแปรงฟันอย่างถูกวิธี ใช้แปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม ใช้ไหมขัดฟันอย่างสม่ำเสมอ 

 

เกิดอะไรขึ้นกับลูก 

สัปดาห์นี้ทารกมีความยาว 3-4 เซนติเมตร (เท่าๆ กับผลสตรอเบอรี่) สามารถเคลื่อนไหวได้เล็กน้อย เห็นปากกับจมูกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ระบบประสาท และระบบทางเดินอาหารพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว สมองมีขนาดใหญ่ขึ้น

 

Week 10 “เล็บมือ เล็บเท้าลูกเริ่มปรากฏ

 

เกิดอะไรขึ้นกับคุณแม่ 

บางท่านอาจรู้สึกว่าช่องคลอดบวมขยายตัวขึ้น โดยไม่รู้สึกเจ็บปวดอะไร มีตกขาวมากขึ้นเป็นสีขาวใส ๆ แต่ไม่มีกลิ่น ลักษณะเหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ยกเว้นว่าตกขาวมีสีเหลืองเขียวขุ่น คัน หรือมีกลิ่นเหม็น ก็ควรต้องรีบปรึกษาแพทย์

ตกขาวมาจากไหน

โดยปกติช่องคลอดและปากมดลูกจะสร้างสารคัดหลั่งเป็นเมือกออกมา เพื่อให้ช่องคลอดหล่อลื่นและช่วยป้องกันการติดเชื้อ ลักษณะและปริมาณของตกขาวจะขึ้นกับอิทธิพลของฮอร์โมนในร่างกาย โดยเฉพาะช่วงตั้งครรภ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนสูงมาก  ใครที่ก่อนตั้งครรภ์เคยมีตกขาวอยู่แล้ว ช่วงตั้งครรภ์ก็อาจมากขึ้นกว่าเดิมได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติระหว่างตั้งครรภ์ แต่มักเป็นเหตุให้คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์กังวลได้บ่อย ๆ

 

อะไรที่คุณต้องระวัง 

คุณแม่ควรสังเกตอาการต่างๆ เหล่านี้ไว้บ้าง เช่น ตกขาวมากเกินไปไหม มีเลือดออกจากช่องคลอดหรือไม่ มีอาการปวดท้องผิดปกติหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้แม้บางครั้งดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ก็ไม่ควรมองข้ามไป ขอแนะนำให้หมั่นสังเกตตัวเองอย่างสม่ำเสมอ 

เกิดอะไรขึ้นกับลูก 

มีการเจริญมากขึ้น ลักษณะใบหูส่วนนอกติดกับศีรษะชัดเจนขึ้น สมองมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เริ่มเห็นนิ้วมือนิ้วเท้าชัดเจนขึ้นแต่ยังคงยึดติดกันอยู่ มองโดยรวมจะเห็นว่ามีรูปร่างคล้ายคนมากยิ่งขึ้น ในสัปดาห์นี้

ลูกน้อยมีความยาวประมาณ 4.5 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 5 กรัม

 

แหล่งที่มา : pb-mag.com

อัพเดทล่าสุด