อาการกรดไหลย้อนกลับ วิธีแก้อาการกรดไหลย้อนเบื้องต้น อาการกรดไหลย้อนอันตราย


9,904 ผู้ชม


อาการกรดไหลย้อนกลับ วิธีแก้อาการกรดไหลย้อนเบื้องต้น อาการกรดไหลย้อนอันตราย

 

โรคกรดไหลย้อน (GERD) คืออะไร อาการของโรคและการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด

โรคกรดไหลย้อน หมายถึงภาวะที่กรดในกระเพาะไหลย้อนมาในหลอดอาหาร ทำให้เกิดการอักเสบของหลอดอาหาร ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก

เมื่อเรารับประทานอาหารทางปาก อาหารจะถูกเคี้ยว และกลืนเข้าหลอดอาหาร อาหาร จะถูกบีบไล่ไปยังกระเพาะอาหาร ระหว่างรอยต่อของกระเพาะอาหาร และหลอดอาหารจะมีหูรูด หรือที่เรียกว่า Sphincter ทำให้ที่ปิดมิให้อาหารหรือกรดไหลย้อนกลับไปยังหลอดอาหาร เมื่ออาหารอยู่ในกระเพาะจะมีกรดออกมาจำนวนมาก เมื่ออาหารได้รับการย่อยแล้วจะถูกการบีบไปยังลำไส้เล็ก ดังนั้นหากมีกรดไหลย้อนไปยังหลอดอาหารก็จะมีอาการเจ็บหน้าอก

โรคกรดไหลย้อนคืออะไร

คือภาวะที่กรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารไปยังหลอดอาหาร ทำให้เกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอก หรือแสบหน้าอกบางครั้งอาจจะรู้สึกรสเปรี้ยว

สาเหตุของกรดไหลย้อน

  • Hiatus hernia (คือโรคที่เกิดจากกระเพาะอาหารส่วนต้นเข้าไปในกำบังลม)
  • ดื่มสุรา
  • อ้วน
  • ตั้งครรภ์
  • สูบบุหรี่
  • อาหารรสเปรี้ยว เผ็ด
  • ช้อกโกแลต
  • อาหารมัน ของทอด
  • หอมกระเทียม
  • มะเขือเทศ

อาการของกรดไหลย้อน

อาการทางหลอดอาหาร

  • อาการปวดเสบร้อนบริเวณหน้าอก และลิ้มปี่ที่เรียกว่าร้อนใน (heart burn) บางครั้งอาจจะร้าวไปที่คอได้
  • รู้สึกมีก้อนอยู่ในคอ
  • กลืนลำบาก หรือกลืนแล้วเจ็บ
  • เจ็บคอหรือแสบลิ้นเรื้อรัง โดยเฉพาะในตอนเช้า
  • รู้สึกเหมือนมีรสขมของน้ำดี หรือมีรสเปรี้ยวของกรดในคอหรือปาก
  • มีเสมหะอยู่ในคอ หรือระคอตลอดเวลา
  • เรอบ่อย คลื่นไส้
  • รู้สึกจุกแน่นอยู่ในหน้าอก คล้ายอาหารไม่ย่อย

อาการทางกล่องเสียง และปอด

  • เสียงแหบเรื้อรัง หรือแหบเฉพาะตอนเช้าหรือมีเสียงผิดปกติจากเดิม
  • ไอเรื้อรัง
  • ไอ หรือ รู้สึกสำลักในเวลากลางคืน
  • กระแอมไอบ่อย
  • อาการหอบหืดแย่ลง
  • เจ็บหน้าอก
  • เป็นโรคปอดอักเสบเป็นๆหายๆ

เทคโนโลยีใหม่ “หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด” รักษาอาการกรดไหลย้อนได้แม่นยำ

กรดไหลย้อน เป็นอาการของโรคทางเดินอาหารที่พบบ่อยมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปทำให้เรามีกิจวัตรประจำวันที่ต้องเร่งรีบโดยเฉพาะการรับประทานอาหาร ซึ่งหลายคนอาจมองว่าเล็กน้อย แต่ทราบหรือไม่ว่า โรคกรดไหลย้อนนี้มีภัยซ่อนเร้นอยู่ เพราะหากเป็นรุนแรงมาก ๆ อาจส่งผลให้แผลอักเสบและกลายเป็นโรคมะเร็งได้ในที่สุด

รศ.นพ.ณรงค์ เลิศอรรฆยมณี ผู้อำนวยการอาวุโสคลินิกศัลยกรรมทั่วไป โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคกรดไหลย้อนว่า เป็นภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร ส่วนใหญ่เป็นกรดในอาหาร โดยตามปกติการรับประทานอาหาร น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารมีกระบวนการป้องกันไม่ให้ไหลย้อนกลับเข้าไปในหลอดอาหารได้ แต่มีหลายภาวะที่ทำให้กระบวนการป้องกันนี้เสียหายไป ทำให้เกิดการไหลย้อนกลับได้ ซึ่งน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารมีทั้งความเป็นกรดหรือด่างทำให้เกิดการอักเสบของหลอดอาหาร โดยกระบวนการต่าง ๆ ในร่างกายไม่เหมือนกัน ทำให้มีการไหลย้อนขึ้นมาเป็นครั้งคราว ซึ่งการไหลย้อนบางครั้งไม่ได้มีแค่กรดที่ไหลย้อนขึ้นมา แต่ยังมีเศษอาหารและอีกหลายอย่างที่ร้ายแรงมากกว่า

’สิ่งที่ปิดกั้นไม่ให้น้ำกรดไหลย้อนในตัวคนเราไม่ได้แข็งแรงมาก ตามธรรมชาติก็มีไหลย้อนอยู่แล้วแต่เป็นแค่เล็กน้อยก็หายไป และมักเป็นหลังจากทานอาหารมื้อใหญ่ ๆ หากนอนหลับไปก็จะไม่มีอาการ เชื่อว่าทุกคนเคยเป็น ซึ่งอาการบางครั้งคนไทยเรียกว่า ผีอำ เพราะนอนแล้วหายใจไม่ออกเหมือนมีใครมาบีบคอ แต่ความจริงเป็นกรดไหลย้อน เพราะกล้ามเนื้อคอพยายามบีบตัวรัดที่หลอดลมไม่ให้อาหารไหลย้อนขึ้นมาทำให้เกิดอาการแน่นหายใจไม่ออกซึ่งถือเป็นโรคหนึ่งที่ต้องรักษา“

โรคนี้เป็นได้ทุกกลุ่มอายุ โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ผู้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ดื่มสุรา สูบบุหรี่ กำลังตั้งครรภ์ เป็นโรคผิวหนังแข็ง โรคเบาหวาน นอกจากนี้ยังมียาบางชนิดที่เป็นปัจจัยเสริม เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาแก้ซึมเศร้า ส่วนในเด็กพบได้ตั้งแต่วัยทารกจนถึงวัยโต โดยอาการของโรคกรดไหลย้อนที่สำคัญมี 2 แบบ คือ แบบแรก เกิดจากการอักเสบของหลอดลมโดยตรง จะมีอาการแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่แล้วลามขึ้นมาที่หน้าอกหรือคอ จะเป็นมากหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก การโน้มตัวไปข้างหน้า การยกของหนัก และนอนหงาย นอกจากนี้ยังมีอาการเรอเปรี้ยว เพราะมีกรดซึ่งเป็นรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมา

ส่วน แบบที่สอง เกิดจากการมีกรดไหลย้อนโดยที่มีการอักเสบของหลอดอาหารร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ บางคนอาจจุกแน่นยอดอกจากการเกร็งตัวของหลอดอาหาร ทำให้เหมือนเป็นโรคหัวใจขาดเลือดอย่างเฉียบพลัน บางคนมีอาการกล่องเสียงอักเสบ ทำให้มีเสียงแหบ มีเสมหะมากในเวลาตื่นนอนหรือมักเป็นมากจนเป็นโรคทางเดินหายใจอักเสบเรื้อรังจนเป็นโรคหอบหืด ซึ่งการวินิจฉัยเบื้องต้นจะติดตามดูอาการหรือในบางรายต้องตรวจเพิ่ม เช่น ส่องกล้องทางเดินอาหาร กลืนแป้ง การตรวจวัดการบีบตัวของหลอดอาหารและการตรวจวัดความเป็นกรดด่างในหลอดอาหาร

ด้านการรักษาทั่วไปจะให้รับประทานยาลดการหลั่งกรดเป็นเวลา 6-8 สัปดาห์ แต่ถ้ารุนแรงมากจำเป็นต้องรักษาด้วยการส่องกล้องหรือผ่าตัด โดยมีข้อบ่งชี้ว่ารักษาด้วยยาแล้วไม่ดีขึ้น ไม่สามารถกินยาได้สม่ำเสมอ อายุน้อย ตรวจพบหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างทำหน้าที่บกพร่องมาก มีภาวะแทรกซ้อนจากกรดไหลย้อน เช่น หลอดอาหารอักเสบรุนแรง หลอดอาหารตีบตัน เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่หลอดอาหารส่วนปลาย ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการของกรดไหลย้อนบ่อย ๆ พบว่ามีโอกาสกลายเป็นมะเร็งของหลอดอาหารส่วนปลายมากกว่าคนปกติถึง 8 เท่า

การผ่าตัดรักษาโรคกรดไหลย้อนในปัจจุบันทำได้โดยการส่องกล้องผ่าตัด ไม่ต้องเปิดแผลใหญ่เหมือนสมัยก่อน ทำให้การฟื้นตัวเร็ว อยู่โรงพยาบาลประมาณ 1-2 วัน โดยขณะนี้ศัลยแพทย์สามารถผ่าตัดแบบนี้ด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่คือ หุ่นยนต์ ดาวินชี่ มาช่วยทำให้การผ่าตัดและการเย็บแผลสามารถทำได้ประณีตมากขึ้น ผลผ่าตัดจึงดียิ่งขึ้นโดยหลักการของหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดนี้ แขนหุ่นยนต์จะทำงานตามการบังคับของศัลยแพทย์ ซึ่งไม่ใช่หุ่นยนต์เป็นผู้ผ่าตัด แต่ผู้ผ่าตัดยังคงเป็นศัลยแพทย์ที่บังคับตัวแขนกลหุ่น ดาวินชี่ เพื่อผ่าตัด วิธีผ่าตัดจะใช้เครื่องมือสอดผ่านช่องที่ผนังหน้าท้องแล้วศัลยแพทย์จับเครื่องมือโดยตรง แต่หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดจะเป็นแขนกลสอดผ่านรูเล็กทางผนังท้องแล้วศัลยแพทย์จะควบคุมแขนกลในการผ่าตัด
   
ข้อดีของหุ่นยนต์ ดาวินชี่ คือ มือกลนี้สามารถหมุนได้รอบทิศทางและปรับความละเอียดในการขยับได้ 1 ต่อ 3 ส่วน ทำให้การผ่าตัดละเอียดขึ้น นอกจากนี้ ภาพของการผ่าตัดที่เห็นใน คอนโซล ยังเป็นภาพสามมิติที่ขยายได้ถึง 5-10 เท่าของภาพจริง จึงยิ่งผ่าตัดได้ละเอียดและแม่นยำมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญมือของหุ่นยนต์ยังควบคุมด้วยระบบไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ จึงไม่สั่นสะเทือนเมื่อเปรียบเทียบกับการสั่นของมือศัลยแพทย์ที่เกิดขึ้นตามปกติระหว่างผ่าตัด ซึ่งวิธีผ่าตัดเพื่อรักษาโรคกรดไหลย้อน ศัลยแพทย์จะนำกระเพาะอาหารส่วนบนมาหุ้มรอบหูรูดหลอดอาหารส่วนปลายทำให้หูรูดกระชับขึ้นและเพิ่มความยาวของหูรูดในช่องท้อง ทำให้สามารถป้องกันการไหลย้อนของอาหารและกรดในกระเพาะได้

แต่อย่างไรก็ตามวิธีการรักษาที่ง่ายที่สุด คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ซึ่งเราสามารถทำได้ง่าย ๆ เช่น หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา การดื่มน้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม น้ำผลไม้หรืออาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด อาหารไขมันสูง ช็อกโกแลต ระวังไม่ให้น้ำหนักตัวมากหรืออ้วนเกินไป ระวังอาหารมื้อเย็น ไม่รับประทานในปริมาณที่มากและไม่ควรนอนทันที ควรรออาหารย่อยก่อนนอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ไม่ใส่เสื้อรัดรูปเกินไป และออกกำลังกายสม่ำเสมอเพียงเท่านี้เราก็สามารถหลีกเลี่ยงโรคกรดไหลย้อนได้โดยที่ไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อร่างกาย.



แหล่งที่มา : hibalanz.com , เดลินิวส์ออนไลน์

อัพเดทล่าสุด