โรคหอบหืด การรักษา โรงงานผลิตสมุนไพรไทยรักษาหอบหืด โรคหอบหืดเกิดจากอะไร


โรคหอบหืด การรักษา โรงงานผลิตสมุนไพรไทยรักษาหอบหืด โรคหอบหืดเกิดจากอะไร

โรคหอบหืด คำแนะนำเพื่อมีชีวิตอยู่สุข โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล


โรคหอบหืด (Asthma) หรือโรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้ ยิ่งรู้จัก เราก็จะรักเขามากยิ่งขึ้นเพราะยิ่งจะทำให้คุณเองสามารถรักษาให้อาการต่างๆ ดีขึ้นได้ กลับไปใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น วันนี้เรามาเรียนรู้การปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเพื่ออยู่กับโรคนี้อย่างมีความสุข

เริ่มต้นที่ดูแลสุขภาพของคุณเอง

เป็นการรักษาที่ดีที่สุดเพราะเป็นการรักษาและป้องกันที่สาเหตุ

· คุณเองต้องหมั่นดูแลสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์และแข็งแรงอยู่เสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกประเภท ออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
· รักษาสุขภาพจิตให้สดชื่นแจ่มใส อย่าเอาอาการโรคมากังวล
· ถ้าเป็นไปได้ พยายามอยู่ห่างจากผู้ที่ไม่สบายโดยเฉพาะผู้ที่มีอาการติดเชื้อโรคทางเดินหายใจ เช่น คนที่เป็นหวัด เพื่อลดการติดเชื้อจากคนอื่นที่จะทำให้อาการของคุณแย่ลง และเมื่อตัวคุณเองการติดเชื้อ จากโรคหวัด ไซนัสอักเสบ คอหรือต่อมทอนซิลอักเสบ หลอดลมอักเสบ ควรรีบไปหาแพทย์เพื่อให้รับการรักษาทันที ป้องกันอาการโรคแทรกซ้อน
· ควรดูแลสุขภาพของฟันและช่องปากให้ดี เพราะเป็นแหล่งซ่อนตัวของเชื้อต่างๆ เช่น เชื้อแบคทีเรียที่จะคอยซ้ำเติมยามคุณเกิดอาการหอบรุนแรง

หลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้หรือกระตุ้นให้เกิดอาการหอบหืด

พยายามหลีกเลี่ยงอย่าให้สัมผัสกับสิ่งที่กระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ คุณควรเรียนรู้โดยใช้วิธีสังเกตว่า เมื่อสัมผัสกับอะไร อยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบไหนหรือรับประทานชนิดใดแล้วมีอาการหอบหืดตามมาทุกครั้ง พอรู้แล้วคุณก็ควรหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้นหรือกำจัดหรือลดปริมาณของสารก่อภูมิแพ้หรือสารกระตุ้นให้เกิดอาการที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เหลือน้อยที่สุด

· ทำความสะอาดบ้าน ห้องนอน ห้องทำงาน รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ พัดลม เครื่องปรับอากาศ โดยใช้เครื่องดูดฝุ่น อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แล้วถูด้วยผ้าชุบน้ำหมาดๆ ไม่ควรใช้ไม้กวาดหรือที่ปัดฝุ่น ถ้าตัวคุณเองต้องทำความสะอาดด้วยตนเองเอง ควรใช้ผ้าปิดปากและจมูกป้องกันฝุ่น
· ใช้เตียงที่ไม่มีขา ขอบเตียงควรแนบชิดกับพื้นห้อง เพื่อลดแหล่งสะสมฝุ่น
· ทำความสะอาดที่นอน หมอน ผ้าห่ม มุ้ง ผ้าคลุมเตียง อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง โดยซักในน้ำร้อนประมาณ 60 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 30 นาที สัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือโดยมาตากแดดจัดๆ
· ใช้หมอน หมอนข้าง ที่นอน ที่ทำด้วยใยสังเคราะห์ หรือฟองน้ำ ไม่ควรใช้ชนิดที่มีนุ่น ขนเป็ด ขนไก่ หรือขนนกอยู่ภายใน ถ้าจำเป็นต้องใช้ ควรหุ้มพลาสติกหรือผ้าไวนิลก่อนสวมปลอกหมอนหรือคลุมเตียง หรืออาจใช้ผ้าคลุมที่นอน ปลอกหมอน ที่ทำจากผ้าชนิดพิเศษที่สามารถป้องกันการเล็ดลอดของตัวไรฝุ่นและสารจากไรฝุ่นร่วมด้วย แล้วจึงปูผ้าปูที่นอนและใส่ปลอกหมอน ผ้าหุ้มกันไรฝุ่นชนิดพิเศษนี้ควรซักด้วยน้ำธรรมดาทุก 2 สัปดาห์ ผ้าห่มควรเลือกชนิดที่ทำด้วยใยสังเคราะห์ หรือผ้าแพร หลีกเลี่ยงชนิดที่ทำด้วยขนสัตว์ ผ้าฝ้าย หรือผ้าสำลี
· จัดห้องนอนให้โล่ง และมีเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้นที่สุด และไม่ควรใช้พรมปูพื้นห้อง พื้นควรเป็นไม้หรือกระเบื้องยาง
· เก็บหนังสือและเสื้อผ้าในตู้ที่ปิดมิดชิด เฟอร์นิเจอร์ก็ไม่ควรใช้ชนิดที่เป็นเบาะหุ้มผ้า ควรทำพลาสติกหุ้มหรือใช้ชนิดที่เป็นหนังแท้ หรือหนังเทียม หรือเป็นไม้ ไม่ควรมีของเล่นสำหรับเด็กที่มีนุ่น หรือเศษผ้าอยู่ภายใน หรือ ของเล่นที่เป็นขนปุกปุย หรือทำด้วยขนสัตว์จริง ไม่ควรใช้ผ้าม่าน ควรใช้มู่ลี่แทน
· กำจัดแมลงสาบ มด แมลงวัน ยุง และแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์เหล่านี้ ควรให้ผู้อื่นกำจัด และทำในเวลาที่ผู้ป่วยไม่อยู่บ้าน
· ผู้ป่วยที่แพ้สัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว นก หนู กระต่าย เป็ด หรือไก่ ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์จากขนสัตว์ และไม่ควรนำสัตว์ดังกล่าวมาเลี้ยงไว้ในบ้าน ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ควรให้อยู่นอกบ้าน หรือถ้าจำเป็นต้องเลี้ยงในบ้าน อย่างน้อยไม่ควรให้สัตว์นั้นอยู่ในห้องนอน
· ผู้ป่วยอาจจะแพ้เชื้อราที่อยู่ในอากาศก็ได้ พยายามอย่าให้เกิดความชื้นหรือมีบริเวณอับทึบเกิดขึ้นในบ้าน โดยพยายามเปิดหน้าต่าง ให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ให้แสงแดดส่องถึง อย่าให้มีน้ำท่วมขังอยู่นานๆ ตรวจและทำความสะอาดห้องน้ำ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศบ่อยๆ พยายามกำจัดแหล่งเพาะเชื้อรา เช่น ใบไม้ที่ร่วงทับถมอยู่บนพื้น เศษหญ้าที่ชื้นแฉะในสนาม ไม่ควรนำพืชที่ใส่กระถางปลูกมาไว้ภายในบ้าน กำจัดอาหารที่เชื้อราขึ้นโดยเร็ว เมื่อเกิดมีเชื้อราขึ้นที่ใด เช่น ผนังห้องน้ำ ห้องครัว กระเบื้องปูพื้นที่มีเชื้อราสีดำ ควรทำลายโดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อรา
· ละอองเกสรดอกไม้ หรือของหญ้าและวัชพืช เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ ถ้าบริเวณบ้านมีสนามหญ้า ควรให้ผู้อื่นตัดหญ้าและวัชพืชในสนามบ่อยๆ และไม่ควรนำต้นไม้ ดอกไม้สดหรือแห้งไว้ในบ้าน ในช่วงที่มีละอองเกสรมาก ควรปิดประตูหน้าต่าง และใช้เครื่องปรับอากาศ และทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงเช้า
· ในรถยนต์ส่วนตัวที่ผู้ป่วยนั่ง ดูดฝุ่นอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ไม่ควรใช้ผ้าเป็นวัสดุคลุมเบาะรองนั่ง หมั่นตรวจและทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศบ่อยๆ เวลาเดินทางควรใช้เครื่องปรับอากาศเสมอ และไม่ควรเปิดหน้าต่าง
· หลีกเลี่ยงสารระคายเคืองต่างๆ หรือปัจจัยชักนำบางอย่างที่จะทำให้อาการของโรคมากขึ้น เช่น ฝุ่น ควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ควันธูป ควันจากโรงงาน กลิ่นฉุนหรือรุนแรง เช่น กลิ่นสีหรือน้ำหอม กลิ่นจากน้ำยาหรือสารเคมีต่างๆ
· ระวังเมื่อต้องเข้าไปในที่อากาศเปลี่ยนแปลง เช่นสถานที่มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของอากาศอย่างรวดเร็ว การเปิดแอร์หรือพัดลมเป่าโดยตรง การดื่มหรืออาบน้ำเย็น ถ้าต้องการเปิดแอร์นอน ควรตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศให้สูงกว่า 25 องศาเซลเซียส ถ้าใช้พัดลม ไม่ควรเปิดเบอร์แรงสุด ควรนอนอยู่ห่างจากเครื่องปรับอากาศ หรือพัดลมพอสมควร ควรให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายให้เพียงพอ เช่น ควรนอนห่มผ้า ใช้ผ้าพันคอ หรือใส่ถุงเท้าเวลานอนด้วย
· สุดท้ายถึงคุณไม่ได้เป็นโรคหอบหืดก็ควรทำ โดยหลีกเลี่ยงการอดนอน การดื่มเหล้า หรือสูบบุหรี่ที่เป็นปัจจัยทอนภูมิต้านทานของคุณ

คำแนะนำในการใช้ยา

เมื่อคุณต้องใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ ได้แก่ ยารับประทาน ยาสูดหรือพ่นคอ ยาทั้งหลายมีไว้เพื่อบรรเทาอาการไม่ใช่การกำจัดสาเหตุเหมือนปรับพฤติกรรมคุณเอง พอคุณใช้ยาไประยะหนึ่งอาการต่างๆก็จะดีขึ้น ในขณะเดียวกันคุณต้องดูแลสุขภาพตนเองและควบคุมสภาพแวดล้อมเพื่อลดสารก่อภูมิแพ้หรือสารกระตุ้น ความจำเป็นในการใช้ยาก็จะน้อยลงเรื่อยๆ

โรคนี้หากไม่ดูแลตนเอง จะมีอาการโรคเป็นต่อเนื่องยาวนานและแย่ลง ดังนั้นผู้ป่วยควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ยาบางชนิดอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนชนิดหรือขนาดของยาแล้วแต่ผลการตอบสนองของตัวคุณเอง จึงควรไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

หากต้องรับการรักษาโดยการฉีดวัคซีนภูมิแพ้

คนไข้ต้องเข้ารับการตรวจเสียก่อนว่าแพ้สารอะไร หลังจากนั้นแพทย์จะให้การรักษาโดยฉีดสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการหอบเข้าไปในร่างกายทีละน้อย แล้วค่อยๆเพิ่มจำนวน เพื่อให้สร้างภูมิต้านทานต่อสิ่งที่แพ้ วิธีนี้จะใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมาก ไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยา หรือไม่สามารถทนผลข้างเคียงของยาได้ หรือผู้ที่มีโรคภูมิแพ้หลายชนิดร่วมด้วย เช่น มีโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ โรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ วิธีนี้จะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีครึ่ง ถ้าได้ผลดี อาจต้องฉีดต่อเนื่องไปอีก 3-5 ปี รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษาค่อนข้างจะสูง

หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้รวมทั้งโรคหอบหืด ยาที่ใช้ในการรักษา การดูแลตัวเองและคนรักในครอบครัว สามารถขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้จากเภสัชกรใจดีที่ร้านยาหรือที่โรงพยาบาลได้เลยครับ พวกเราเภสัชกรยินดีและเต็มใจรับใช้พี่น้องครับ

แหล่งข้อมูล

พญ. อรพรรณ โพชนุกูล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ นพ. ปารยะ อาศนะเสน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, โรคหอบหืด

นพ. ปารยะ อาศนะเสน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และโรคภูมิแพ้

นพ. สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์ สมาคมโรคภูมิแพ้และอิมมูโนวิทยาแห่งประเทศไทย, โรคแพ้อากาศ

แหล่งที่มา : oknation.net

อัพเดทล่าสุด