เจ็บหัวนม ปวดท้องน้อย เจ็บหัวนม ประจำเดือน ปั๊มนม เจ็บหัวนม


2,586 ผู้ชม


เจ็บหัวนม ปวดท้องน้อย เจ็บหัวนม ประจำเดือน ปั๊มนม เจ็บหัวนม

 

อาการเจ็บหัวนม

 

การให้นมแม่ไม่ควรเจ็บปวด  ความเจ็บปวดอาจเกิดขึ้นในช่วงแรกแต่จะค่อยๆหายเจ็บทีละน้อยและหายเจ็บในที่สุด  การงับหัวนมที่ผิดวิธีและท่าอุ้มให้นมที่ผิดเป็นสาเหตุหลักของอาการเจ็บหัวนม เนื่องจากเด็กอาจงับลานนมได้ไม่ลึกพอจึงดูดเพียงบริเวณหัวนมซึ่งทำให้เจ็บ  ถ้าคุณมีอาการเจ็บหัวนม คุณมักเลื่อนเวลาให้นมออกไปและนี่เองเป็นสาเหตุของอาการเต้าคัดตึงและนำไปสู่อาการท่อน้ำนมอุดตัน  ถ้าลูกดูดนมอย่างถูกวิธีและดูดอย่างมีประสิทธิภาพ ลูกจะดูดได้นานเท่าที่ลูกต้องการโดยที่คุณไม่รู้สึกเจ็บ

 

ข้อควรจำ: ถ้าลูกดูดนมแล้วคุณรู้สึกเจ็บให้เอาลูกออกจากเต้าก่อนแล้วเริ่มใหม่ ขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญหากยังรู้สึกเจ็บ

 

วิธีแก้ไข:

  • ตรวจสอบท่าอุ้มให้นมและท่างับหัวนมขณะดูดนมของลูก  เพื่อลดความเจ็บปวด ควรให้ลูกอ้าปากกว้างและให้งับลานนมให้มากที่สุดที่จะทำได้ คุณควรรู้สึกดีขึ้นทันทีเมื่อจัดท่าของลูกได้ถูกต้อง ดู BreastfeedingKnowHowสำหรับข้อมูลเรื่อง ท่าดูดนมที่ถูกวิธี (correct latch) และ ท่าอุ้มให้นม (Positioning the Baby at the Breast)
  • อย่าเลื่อนเวลาให้นมออกไป พยายามผ่อยคลายเพื่อให้กลไกน้ำนมพุ่ง (Let down Reflex) เกิดได้ง่ายขึ้น คุณควรบีบนมออกเล็กน้อยก่อนเพื่อให้เต้านิ่มลงและลูกจะดูดได้ง่ายขึ้น
  • หากรู้สึกเจ็บหัวนมมาก ควรเปลี่ยนท่าให้นมในแต่ละครั้งที่ให้นม เพื่อลดการกดทับหัวนมที่ตำแหน่งเดิม
  • หลังให้นมเสร็จ บีบน้ำนมออกเล็กน้อยและนำมาทาเบาๆบริเวณหัวนม  เนื่องจากน้ำนมแม่มีคุณสมบัติในการรักษาตามธรรมชาติและทำให้ผิวลื่น  หลังจากให้นมเสร็จ พยายามผึ่งหัวนมให้แห้งก่อน หรือสวมใส่เสื้อผ้าที่ทำจากผ้าฝ้ายนุ่มๆ
  • การสวมแผ่นรองให้นม (nipple shield) ระหว่างการให้นมไม่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บหัวนม  จริงๆแล้วมันทำให้เจ็บหัวนมนานขึ้นไปอีกเพราะทำให้ลูกยากลำบากในการเรียนรู้ที่จะไม่ใช้ nipple shield
  • หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อชั้นในหรือเสื้อผ้าที่รัดเกินไปซึ่งจะไปกดทับบริเวณหัวนม
  • เปลี่ยนแผ่นรองซับน้ำนมบ่อยๆเพื่อไม่ให้เต้านมชื้นเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้สบู่หรือครีมที่มีตัวยาสมานแผลหรือสารเคมีอื่นๆบริเวณหัวนม หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่าต้องล้างหรือเช็ดออกก่อนให้นม  การล้างเต้านมและหัวนมนั้นใช้น้ำสะอาดก็เพียงพอแล้ว
  • ใช้ลาโนลีนบริสุทธิ์ถูเบาๆบริเวณหัวนมหลังให้นมลูกเพื่อบรรเทาอาการเจ็บ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้ครบหมู่ และดื่มน้ำมากๆจะช่วยในกระบวนการรักษา  หากมีอาการปวดมาก อาจปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาแก้ปวดที่ไม่มีส่วนผสมของแอสไพริน
  • หากมีอาการเจ็บหัวนมเป็นเวลานาน หรือมีการเจ็บหัวนมเฉียบพลันหลังจากให้นมมานานหลายสัปดาห์และที่ไม่เคยมีอาการมาก่อน คุณอาจติดเชื้อรา สัญณาณที่บ่งชี้ว่าติดเชื้อราคือมีอาการคัน ผิวแตกและแห้ง หรือมีผิวสีชมพู การติดเชื้ออาจเกิดจากเชื้อราในปากของลูกมาสัมผัสโดนหัวนม  การติดเชื้ออาจมีลักษณะเป็นจุดสีขาวเล็กๆบริเวณกระพุ้งแก้ม เหงือก หรือลิ้น มันอาจมีลักษณะเหมือนผื่นผ้าอ้อมและไม่สามารถรักษาให้หายโดยใช้ยาทาผื่นผ้าอ้อม หากคุณมีอาการเหล่านี้และคิดว่าคุณติดโรคเชื้อราในช่องปาก ให้ไปพบแพทย์ของคุณหรือกุมารแพทย์ หรือ ที่ปรึกษาด้านการให้นม (Lactation consultant) เพื่อรักษา

 

สิ่งสำคัญ : ถ้าคุณยังมีอาการเจ็บหัวนมหลังจากพยายามทำตามคำแนะนำต่างๆแล้ว คุณควรไปพบผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการอบรมด้านการให้นมแม่โดยเฉพาะ เช่น Lactation consultant หรือ Peer Counselor (สำหรับประเทศไทย ให้ไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านการให้นมแม่ที่ศูนย์นมแม่หรือคลีนิคนมแม่)

 

 

อาการเต้านมคัด

 

เป็นเรื่องปกติที่เต้านมแม่จะใหญ่ขึ้น หนักขึ้นและบวมเมื่อมีการสร้างน้ำนมมากขึ้นในวันที่ 2-6 หลังคลอด  ซึ่งการสร้างน้ำนมที่เพิ่มขึ้นนี้อาจทำให้เกิดเต้านมคัด เต้านมจะแข็งขึ้นและมีอาการปวด บวม ร้อน เต้านมมีสีแดงขึ้น  บางครั้งอาจมีไข้ต่ำๆ และอาจทำให้สับสนกับโรคติดเชื้อที่เต้านม อาการคัดเต้านมเป็นผลจากร่างกายสร้างน้ำนมมากขึ้นมักเกิดขึ้นวันที่ 3-4 หลังคลอดบุตร ซึ่งทำให้การไหลเวียนโลหิตช้า  เมื่อเลือดและน้ำเหลืองเคลื่อนผ่านเต้านม ของเหลวจากเส้นเลือดเหล่านี้มีการซึมผ่านบริเวณเนื้อเยื่อเต้านมทำให้เกิดการคั่งบริเวณเต้านม ต่อไปนี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการคัดเต้านม

 

  • การดูดนมที่ผิดวิธีและท่าอุ้มให้นมที่ผิดวิธี
    • การพยายามจำกัดเวลาให้นมและการให้นมไม่บ่อยเท่าที่ควร
    • การให้อาหารเสริมอื่นโดยใช้ขวดนมเช่น น้ำ น้ำผลไม้ นมผสม หรือนมแม่
    • การใช้จุกหลอกบ่อยเกินไป
    • การเปลี่ยนเวลาให้นมเพื่อกลับไปทำงาน
    • ตัวลูกเองมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดูดนมเช่น นอนหลับตลอดคืน หรือดูดนมในบางช่วงของวันถี่ขึ้นแต่ไปดูดน้อยลงในเวลาอื่น
    • เด็กบางคนมีแรงดูดน้อย ซึ่งทำให้ไม่สามารถดูดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    • แม่มีความอ่อนเพลีย มีความเครียด หรือภาวะโลหิตจาง
    • เต้านมสร้างน้ำนมมากเกินไป
    • หัวนมเป็นแผล
    • ความผิดปกติของเต้านม

 

อาการเต้านมคัดอาจนำไปสู่ภาวะท่อน้ำนมอุดตันหรือเต้านมอักเสบ ดังนั้นควรพยายามป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น หากปฏิบัติได้ถูกต้องอาการควรหายไปภายใน 1-2 วัน

 

วิธีแก้ไข:

  • ลดอาการเต้าคัดโดยให้ลูกดูดอย่างถูกวิธีและการอุ้มให้นมให้ถูกท่า ให้ลูกดูดบ่อยๆและนานเท่าที่ลูกต้องการ ในช่วงแรกเมื่อน้ำนมมาเต็มเต้าพยายามปลุกลูกให้ดูดนมทุก 2-3 ชั่วโมง การให้ลูกดูดนมจากเต้าช่วยให้นมไหลได้ดีและระบายนมออกจากเต้าซึ่งทำให้เต้านมไม่เต็มจนเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ขวดนมเสริมการให้นม หรือใช้จุกหลอกบ่อยเกินไป
  • ก่อนให้ลูกดูดนม พยายามบีบนมด้วยมือหรือปั๊มนมออกก่อนเล็กน้อยเพื่อให้เต้านม ลานนมและหัวนมนิ่มลง หรือนวดเต้านมให้ร้อนขึ้น
  • ความเย็นอาจช่วยบรรเทาอาการปวด  แม่บางคนใช้ใบกะหล่ำปลีช่วยบรรเทาอาการเต้าคัด ถึงแม้ประสิทธิภาพของใบกระหล่ำปลีจะยังไม่มีการพิสูจน์ แต่แม่ๆหลายคนคิดว่ากะหล่ำปลีช่วยได้ คุณอาจใช้กะหล่ำที่แช่เย็นหรือที่อุณหภูมิห้อง ตัดให้เป็นช่องสำหรับหัวนม และวางลงบนเต้านมได้เลย โดยสวมไว้ในเสื้อชั้นใน ให้เปลี่ยนใบสดใหม่เมื่อใบเก่าเหี่ยวลง  
  • เมื่อต้องกลับไปทำงาน พยายามปั๊มนมในเวลาเดียวกับที่ลูกเคยดูดนมที่บ้าน
  • พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหานให้ครบหมู่ และดื่มน้ำให้มากพอ
  • สวมเสื้อชั้นในที่พอดี ไม่รัดเกินไป

 

สิ่งสำคัญ : หากมีอาการเต้านมคัดเกิน 2 วัน หลังจากพยายามรักษาด้วยตัวเองแล้ว ให้ปรึกษาที่ปรึกษาด้านการให้นม (Lactation consultant)

 

 

ท่อน้ำนมอุดตันและเต้านมอักเสบ

 

เป็นเรื่องปกติสำหรับผู้หญิงหลายคนที่จะมีอาการท่อน้ำนมอุดตันถ้าเธอเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ท่อน้ำนมอุดตันมีอาการปวดบวมและเป็นก้อนในเต้านม ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการมีไข้หรืออาการอื่น ท่อน้ำนมอุดตันเกิดขึ้นเมื่อน้ำนมไม่ถูกระบายออกและเกิดการอักเสบ จากนั้นแรงดันที่เกิดจากการอุดตัน และเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงจะเกิดการอักเสบ ท่อน้ำนมอุดตันมักเกิดทีละข้าง

 

ภาวะเต้านมอักเสบ (Mastitis) หรืออาการปวดหรือมีก้อนในเต้านมซึ่งจะมีอาการไข้ร่วมด้วย เช่นมีอาการอ่อนแรงและปวด  บางคนอาจมีอาการคลื่นเหียนและอาเจียน บางคนอาจมีน้ำสีเหลืองคล้ายคอลอสตุ้ม ไหลออกมาจากหัวนม หรือเต้านมร้อนขึ้นและมีสีชมพูหรือแดง  ภาวะเต้านมอักเสบสามารถเกิดขึ้นเมื่อมีสมาชิกภายในบ้านเป็นหวัดหรือมีไข้ และที่เหมือนกับท่อน้ำนมอุดตันคือมักจะเกิดขึ้นทีละเต้า ไม่ง่ายนักที่จะแยกความแตกต่างระหว่างท่อน้ำนมอุดตันและภาวะเต้านมอักเสบเนื่องจากทั้ง 2 อย่างมีอาการคล้ายกันและมักดีขึ้นภายใน 24-48 ชั่วโมง

 

วิธีแก้ไข : การรักษาท่อน้ำนมอุดตันและภาวะเต้านมอักเสบคล้ายกันแต่การรักษาเต้านมอักเสบต้องใช้ยาแก้อักเสบร่วมด้วย

 

  • บรรเทาอาการปวดด้วยความร้อนเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตบริเวณที่ปวดโดยใช้แผ่นความร้อนหรือขวดน้ำร้อนขวดเล็กๆ ใบกระหล่ำปลีไม่สามารถช่วยเรื่องท่อน้ำนมอุดตันแต่ช่วยนวดบริเวณที่ปวด ใช้นิ้วนวดเป็นวงกลมและนวดเข้าหาหัวนม
  • ให้ลูกดูดนมข้างที่มีอาการดังกล่าวบ่อยๆ ซึ่งจะช่วยให้หายอุดตันและน้ำนมไหลได้สะดวกขึ้นและช่วยระบายนมที่เต็มเต้า ให้ลูกดูดนมด้านที่เป็นทุก 2 ชั่วโมงทั้งกลางวันและกลางคืนจะช่วยให้หายเร็วขึ้น
  • พักผ่อนให้เพียงพอและนอนยกเท้าให้สูงจะช่วยได้มาก อาการท่อน้ำนมอุดตันและเต้านมอักเสบเป็นสัญญาณแรกที่แสดงว่าแม่ทำงานมากเกินไปและเหนื่อยเกินไป
  • สวมเสื้อชั้นในที่มีขนาดพอดีไม่รัดเกินไป
  • หากคุณไม่ดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงหลังทำตามขั้นตอนดังกล่าวและมีไข้หรือมีอาการแย่ลง ให้ปรึกษาแพทย์เพราะคุณอาจต้องรับประทานยาแก้อักเสบ หรือหากเต้านมอักเสบทั้งสองข้างหรือหากคุณมีหนองหรือเลือดในน้ำนม หรือมีริ้วๆบริเวณที่เป็น หรือมีอาการรุนแรงและเฉียบพลันให้รีบไปพบแพทย์ทันที
  • ถึงแม้ว่าคุณต้องรับประทานยาแก้อักเสบ การยังคงให้ลูกดูดนมระหว่างการรักษาก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคุณและลูก ยาแก้อักเสบส่วนใหญ่ไม่มีผลต่อลูกโดยผ่านทางทางน้ำนม

 

 

โรคเชื้อราในปาก(Thrush)

 

โรคเชื้อราที่ปาก (ยีสต์) เป็นโรคเชื้อราที่อาจเกิดที่หัวนมหรือในเต้านมเนื่องจากเชื้อสามารถเจริญเติบโตในน้ำนม การติดเชื้อเกิดจากเชื้อ candida ที่มีปริมาณมากเกินไป โดยปกติเชื้อcandida สามารถพบได้ในร่างกายคนปกติโดยจะถูกควบคุมให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายโดยแบคทีเรียตามธรรมชาติที่อยู่ในร่างกาย  แต่ถ้าความสมดุลของแบคทีเรียตามธรรมชาติเปลี่ยนไป candidaสามารถเพิ่มปริมาณมากขึ้นจนทำให้เกิดอาการติดเชื้อได้ ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเชื้อราในปากมีตั้งแต่ ผิวหนังมีความชื้นมากไป หรือหัวนมปวดหรือแตก การรับประทานยาแก้อักเสบ การรับประทานยาคุมกำเนิดหรือสเตียรอยด์ การรับประทานอากหารที่มีปริมาณน้ำตาลมากหรืออาหารที่มียีสต์ การเจ็บป่วยเรื้อรังเช่น การติดเชื้อ HIV โรคเบาหวาน หรือภาวะโลหิตจาง

 

ถ้าคุณเจ็บหัวนมนานหลายวันเกินไปทั้งที่ท่าดูดนมของลูกถูกต้องและท่าอุ้มให้นมถูกต้อง  หรืออยู่ๆคุณก็มีอาการเจ็บหัวนมทันทีจากที่ให้นมลูกมาหลายสัปดาห์และไม่เคยเจ็บมาก่อน   คุณอาจติดโรคเชื้อราในปาก อาการอื่นๆที่แสดงว่าคุณเป็นโรคนี้ ได้แก่ หัวนมเป็นสีชมพู ตกสะเก็ด คัน หรือแตก หรือหัวนมมีสีชมพูเข้ม หัวนมพุพอง คุณอาจมีอาการเจ็บลึกๆในเต้านมระหว่างหรือหลังการให้นม หรือปวดเต้านม

 

การติดเชื้อสามารถก่อตัวในปากของลูกจากการสัมผัสกับหัวนม โดยจะมีลักษณะเป็นจุดขาวบนหรือในกระพุ้งแก้ม เหงือกหรือลิ้น การติดเชื้ออาจมีลักษณะเหมือนผื่นผ้าอ้อม (จุดเล็กสีแดงรอบๆผื่น) แต่ไม่สามารถใช้รักษาให้หายโดยยารักษาผื่นผ้าอ้อม ทารกหลายคนที่เป็นโรคเชื้อราในปากอาจปฏิเสธการดูดนม หรืออาจมีแก๊สในท้อง หรือมีอารมณ์ฉุนเฉียว

 

วิธีแก้

  • ถ้าคุณหรือลูกคุณมีอาการดังกล่าว ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิฉัยโรค
  • คุณควรใช้ยาทั้งสำหรับรักษาหัวนมและยาสำหรับลูก  ยาสำหรับมารดามักเป็นครีมหรือขื้ผึ้งสำหรับทาหัวนม ยาสำหรับเด็กมักเป็นยาน้ำสำหรับรับประทาน(เพื่อรักษาอาการในช่องปาก) หรือครีมหรือขี้ผึ้งสำหรับรักษาผื่นด้านนอก
  • มียาหลายชนิดที่ใช้กันมานานหลายปีเพื่อรักษาโรคเชื้อราในช่องปาก แต่ปัจจุบัน candida มักจะดื้อยาเหล่านี้ หนึ่งในยาที่เก่าแก่ที่สุดแต่มีประสิทธิภาพในการรักษาโดยไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์คือ herbal gentian violet (ยาป้ายลิ้นสีม่วง)  มันใช้ได้ผลเร็วและไม่แพง คุณสามารถซื้อได้ตามเคาน์เตอร์ขายยาทั่วไป ใช้คอตตันบัตแต้มยาป้ายที่ปากลูก หรือป้ายที่หัวนม  ข้อเสียของยานี้คือเปรอะเปื้อนได้ง่าย ก่อนใช้ควรถอดเสื้อผ้าลูกออกจนถึงผ้าอ้อม ส่วนของคุณก็ถอดส่วนเหนือเอวขึ้นไป  เมื่อกวาดลิ้นลูกเสร็จ ก็ให้ลูกดูดนมวิธีนี้จะทำให้ยามาอยู่บนหัวนมและลานนมได้ ถ้าหัวนมยังมียาไม่มากพอก็ใช้คัตตอนบัดป้ายยามาทาจนทั่ว ทำทุกวันวันละครั้งประมาณ 1 สัปดาห์ ปรึกษากุมารแพทย์หากมีคำถามเกี่ยวกับยานี้
  • ถ้าคุณใช้ยาครั้งแรกแล้วไม่เห็นผลภายใน 1 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์ของคุณและกุมารแพทย์เพื่อขอใบสั่งยา ฟลูคอนาโซล (Fluconazole), คีโตคอนาโซล (ketoconazole), และ ไอทราคอนาโซล (itraconazole) ซึ่งเป็นยาต้านเชื้อราที่ปลอดภัยสำหรับแม่และเด็ก ฟลูคอนนาโซล (Fluconazole) มักรับประทานในครั้งแรก 400 มิลลิกรัม หลังจากนั้นรับประทานครั้งละ 100 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ นอกจากรับประทานยาเหล่านี้แล้วคุณอาจต้องปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารเช่น รับประทานกระเทียมมากขึ้น ลดน้ำตาลทรายขาววหรือคาร์โบไฮเดรต รับประทานอาหารที่มีแลคโตบาซิลัส lactobacillus และ primadophilus bifidusปรึกษาที่ปรึกษาด้านการให้นม ( Lactation Consultant) หรือแพทย์เพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดที่จะรักษาโรคนี้
  • โรคนี้อาจใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการรักษา ที่สำคัญที่สุดต้องไม่พยายามให้เชื้อแพร่ออกไป อย่าเก็บสต็อคนมที่มีเชื้อนี้อยู่ เปลี่ยนแผ่นรองซับน้ำนมบ่อยๆ ล้างหรือซักเสื้อผ้าหรือผ้าเช็ดตัวที่สัมผัสบริเวณที่มีเชื้อด้วยน้ำร้อนที่อุณหภูมิสูงกว่า 122 องศาฟาเรนไฮต์ (ประมาณ 50องศาเซลเซียส)
  • สวมเสื้อชั้นในสะอาดทุกวัน
  • ล้างมือคุณและล้างมือลูกบ่อยๆ โดยเฉพาะเด็กที่ชอบดูดนิ้ว
  • ต้มจุกหลอก จุกนม และของเล่นที่ลูกเอาเข้าปากโดยต้มเป็นเวลา 20 นาทีทำทุกวันเพื่อฆ่าเชื้อ หลังใช้ไป 1 สัปดาห์ให้ทิ้งจุกและของเล่นเหล่านั้นและซื้อใหม่
  • ต้มอุปกรณ์ปั๊มนมทุกชิ้นที่สัมผัสกับน้ำนมเป็นเวลา 20 นาทีทุกวัน
  • ตรวจสอบสมาชิกในบ้านคนอื่นว่าไม่ได้เป็นโรค หากเป็นให้รีบรักษา

 

อาการปฏิเสธเต้านม (Nursing Strike)

 

Nursing strike คืออาการที่ลูกปฏิเสธเต้านมหลังจากที่ดูดนมเป็นปกติมาเป็นเวลาหลายเดือน การปฏิเสธเต้านมอาจหมายถึงมีบางสิ่งเกิดกับลูกของคุณและลูกพยายามสื่อสารให้คุณรู้ว่ามีสิ่งผิดปกติ ไม่ใช่เด็กทุกคนจะมีปฏิกิยาเดียวกันในสถานะการณ์ที่ต่างกัน บางคนสามารถดูดนมต่อไปได้ บางคนอาจฉุนเฉียวกับเต้านม บางคนอาจปฏิเสธเต้าตลอดไป สาเหตุของการปฏิเสธเต้าได้แก่:

 

  • ปวดฟันเนื่องจากฟันกำลังขึ้น หรือเกิดจากการติดเชื้อราในช่องปาก หรือเจ็บคอจากหวัด
  • หูติดเชื้อ ทำให้เกิดความเจ็บปวดขณะดูดนม
  • ความเจ็บปวดจากท่าให้นมซึ่งอาจเกิดจากการบาดเจ็บบนร่างกายทารกหรือความเจ็บปวดหลังการได้รับฉีดวัคซีน
  • ความสับสนที่ต้องพรากจากแม่เป็นเวลานาน หรือมีการเปลี่ยนแปลงมากในกิจวัตรประจำวัน
  • มีสิ่งอื่นน่าสนใจที่อยู่รอบๆตัว
  • เป็นหวัดคัดจมูกซึ่งทำให้การหายใจลำบากขณะดูดนม
  • ปริมาณน้ำนมที่ลดลงเนื่องจากไปให้นมขวดเพิ่มขึ้น หรือดูดจุกหลอกมากเกินไป
  • ตอบสนองต่อปฏิกิริยาที่แข็งกร้าวของแม่เมื่อแม่ถูกลูกกัด
  • รู้สึกสับสนเมื่อได้ยินคนในครอบครัวโต้แย้งหรือใช้เสียงที่แข็งกร้าวขณะที่ดูดนม
  • ตอบสนองต่อความเครียด ถูกกระตุ้นมากเกินไป ถูกเลื่อนการให้นมเมื่อถึงเวลาอยู่บ่อยๆ

 

ถ้าลูกของคุณปฏิเสธนมแม่ เป็นเรื่องปกติที่คุณจะกังวลและสับสนโดยเฉพาะถ้าลูกไม่มีความสุข ที่สำคัญคือคุณต้องไม่รู้สึกผิดหรือโทษว่าเป็นความผิดคุณ  คุณอาจรู้สึกอึดอัดที่เต้านมของคุณเมื่อมีการสร้างน้ำนมมากขึ้น

 

วิธีแก้ไข :

  • พยายามให้ลูกดูดนมตรงเวลาเพื่อหลีกเลี่ยงอาการเต้านมคัดและท่อน้ำนมอุดตัน
  • พยายามใช้วิธีอื่นในการป้อนนมลูกเป็นการชั่วคราว เช่น ใช้ถ้วย หลอดหยด หรือช้อน ตรวจสอบผ้าอ้อมลูกเพื่อให้แน่ใจว่าลูกได้รับน้ำนมเพียงพอ (5-6 ครั้งต่อวัน)
  • พยายามเสนอเต้าให้ลูกดูด  ถ้าลูกไม่ยอมให้หยุดและลองทำใหม่ทีหลัง ลองทำเมื่อลูกกำลังจะนอนหรือเมื่อลูกง่วงมากๆ
  • พยายามลองท่าให้นมหลายๆท่า
  • พยายามให้ความสนใจลูกเต็มที่และปลอบโยนลูกด้วยการสัมผัสและกอดรัดมากขึ้น
  • พยายามให้นมขณะนั่งบนเก้าอี้โยกในห้องที่เงียบที่ไม่มีสิ่งรบกวน

 

บทความนี้แปลโดย แม่น้องคีย์ ค่ะ อย่าลืมช่วยกันส่งคำขอบคุณไปให้ผู้แปลด้วยนะคะ หรือจะเขียนไปขอคำปรึกษาเกี่ยวกับนมแม่ก็ได้เช่นกันค่ะ

 

แหล่งที่มา : breastfeedingthai.com

อัพเดทล่าสุด