โรคคอตีบ เขียนบรรยายอากานโรคคอตีบ อาการของโรคคอตีบ


โรคคอตีบ เขียนบรรยายอากานโรคคอตีบ อาการของโรคคอตีบ

           โรคคอตีบ

โรคคอตีบ (Diphtheria) : โรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

            โรคคอตีบ หรือ ดิพทีเรีย เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบ มีแผ่นเยื่อเกิดขึ้นในลำคอ ในรายที่รุนแรงจะมีการตีบตันของทางเดินหายใจ จึงได้ชื่อว่าโรคคอตีบ ซึ่งอาจทำให้ถึงตายได้ และจากพิษ (exotoxin) ของเชื้อจะทำให้มีอันตรายต่อกล้ามเนื้อหัวใจ และเส้นประสาทส่วนปลาย

สาเหตุ
            โรคคอตีบเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Corynebacterium diphtheriae (C. diphtheriae) ซึ่งมี   รูปทรงแท่งและย้อมติดสีแกรมบวก มีสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดพิษ (toxogenic) และไม่ทำให้เกิดพิษ (nontoxogenic) พิษที่ถูกขับออกมาจะชอบไปที่กล้ามเนื้อหัวใจและปลายประสาท ทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งถ้าเป็นรุนแรงจะทำให้ถึงตาย

ระบาดวิทยา
           โรค ติดต่อชนิดนี้ เชื้อจะพบอยู่ในคนเท่านั้นโดยจะพบอยู่ในจมูกหรือลำคอของผู้ป่วยหรือผู้ติด เชื้อ โดยไม่มีอาการ (carrier) ติดต่อกันได้ง่ายโดยการได้รับเชื้อโดยตรงจากการไอ จามรดกัน หรือพูดคุยกันในระยะใกล้ชิด เชื้อจะเข้าสู่ผู้สัมผัสทางปากหรือทางการหายใจ บางครั้งอาจติดต่อกันได้โดยการใช้ภาชนะร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ช้อน หรือ การดูดอมของเล่นร่วมกันในเด็กเล็ก ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการเป็นแหล่งแพร่เชื้อที่สำคัญในชุมชน ส่วนใหญ่จะพบผู้ป่วยโรคคอตีบในชุมชนแออัด ในกลุ่มชนที่มีเศรษฐานะไม่ดี เด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนจะติดเชื้อได้ตั้งแต่เล็กหลังจากภูมิต้านทานจากแม่ หมดลง ในประเทศที่ยังพบโรคนี้ได้ชุกชุมส่วนใหญ่จะพบในเด็กอายุระหว่าง 1-6 ปี สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วและมีระดับการได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบสูง โรคนี้จะหมดไปหรือพบได้น้อยมาก ในประเทศไทยอุบัติการณ์ของโรคได้ลดลงมาก ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่พบจะอยู่ในชนบทหรือในชุมชนแออัด เป็นเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับไม่ครบ และพบในเด็กโตได้มากขึ้น
            ถึงแม้อุบัติการณ์ของโรคจะลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจนทุกแห่ง แต่อัตราป่วยตาย (case-fatality rate) อยู่ในระดับที่ค่อนข้างคงที่ คือ ประมาณร้อยละ 10
            ระยะฟักตัวของโรคอยู่ระหว่าง 2-5 วัน อาจจะนานกว่านี้ได้ เชื้อจะอยู่ในลำคอของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาได้ประมาณ 2 สัปดาห์ แต่บางครั้งอาจนานถึงหลายเดือนได้ ผู้ที่ได้รับการรักษาเต็มที่เชื้อจะหมดไป ภายใน 1 สัปดาห์

อาการและอาการแสดง
            หลังระยะฟักตัวจะเริ่มมีอาการไข้ต่ำๆ มีอาการคล้ายหวัดในระยะแรก มีอาการไอเสียงก้อง เจ็บคอ เบื่ออาหาร ในเด็กโตอาจจะบ่นเจ็บคอคล้ายกับคออักเสบ บางรายอาจจะพบต่อมน้ำเหลืองที่คอโตด้วย เมื่อตรวจดูในคอพบแผ่นเยื่อสีขาวปนเทาติดแน่นอยู่บริเวณทอนซิล และบริเวณลิ้นไก่ แผ่นเยื่อนี้เกิดจากพิษที่ออกมาทำให้มีการทำลายเนื้อเยื่อ และทำให้มีการตายของเนื้อเยื่อทับซ้อนกันเกิดเป็นแผ่นเยื่อ (membrane) ติดแน่นกับเยื่อบุในลำคอ

            ตำแหน่งที่จะพบมีการอักเสบและมีแผ่นเยื่อได้ คือ
            -  ในจมูก ทำให้มีน้ำมูกปนเลือดเรื้อรัง มีกลิ่นเหม็น
            -  ในลำคอและที่ทอนซิล ซึ่งแผ่นเยื่ออาจจะเลยลงไปในหลอดคอ จะทำให้ทางเดินหายใจตีบตันหายใจลำบาก ถึงตายได้
            -  ตำแหน่งอื่นๆ ได้แก่ ที่ผิวหนัง เยื่อบุตา ในช่องหู

โรคแทรกซ้อน
            1) ทางเดินหายใจตีบตัน
            2) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
            3) ปลายประสาทอักเสบ ทำให้มีอัมพาตของกล้ามเนื้อ

การวินิจฉัยโรค
            อาศัยอาการทางคลินิก มีไอเสียงก้อง เจ็บคอ ตรวจพบแผ่นเยื่อในลำคอ บริเวณทอนซิลและลิ้นไก่ (uvula) มีอาการของทางเดินหายใจตีบตัน การวินิจฉัยที่แน่นอนคือการเพาะเชื้อ C. diphtheriae โดยใช้ throat swab เชื้อบริเวณแผ่นเยื่อหรือใต้แผ่นเยื่อ หรือจากแผ่นเยื่อที่หลุดออกมา เนื่องจากต้องใช้มีเดียพิเศษในการเพาะเชื้อ จึงควรจะต้องติดต่อแจ้งห้องปฏิบัติการเมื่อนำส่ง specimen เมื่อเพาะได้เชื้อ C. diphtheriae จะต้องทดสอบต่อไปว่าเป็นสายพันธุ์ที่สร้าง exotoxin

การรักษา
            เมื่อพบผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคคอตีบ ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที เพราะแพทย์จะต้องรีบให้การรักษาโดยเร็ว ผลการรักษาจะได้ผลหรือไม่ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เป็นมาก่อนได้รับการรักษา
            1) การให้ diphtheria antitoxin (DAT)* เมื่อแพทย์ตรวจและสงสัยว่าเป็นคอตีบ จะต้องรีบให้ DAT โดยเร็วที่สุด เพื่อให้ไปทำลาย exotoxin ก่อนที่จะเกิดอันตรายต่อกล้ามเนื้อหัวใจและปลายประสาท ทั้งนี้ โดยไม่ต้องรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
            ขนาดของ DAT ที่ให้อยู่ระหว่าง 10,000-20,000 หน่วย โดยพิจารณาตามความรุนแรงของโรค
            หมายเหตุ *การให้ antitoxin ต้องทำ skin test
            2) ให้ยาปฎิชีวนะ เพนนิซิลิน ฉีดเข้ากล้ามเป็นเวลา 14 วัน ถ้าแพ้เพนนิซิลิน ให้ erythromycin แทน ยาปฏิชีวนะจะไปทำลายเชื้อ C. diphtheriae
            3) เด็กที่มีโรคแทรกซ้อนจากการอุดกลั้นของทางเดินหายใจ จะต้องได้รับการเจาะคอเพื่อช่วยให้หายใจได้ ส่วนโรคแทรกซ้อนทางหัวใจและทางเส้นประสาท ให้การรักษาประคับประคองตามอาการโรคแทรกซ้อนทางหัวใจนับเป็นสาเหตุสำคัญของ การตายในโรคคอตีบ
            4) เด็กที่เป็นโรคคอตีบจะต้องพักเต็มที่ อย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนทางหัวใจ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นปลายสัปดาห์ที่ 2

การป้องกัน
            1) ผู้ที่มีอาการของโรคจะมีเชื้ออยู่ในจมูก ลำคอ เป็นระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ ดังนั้น จึงต้องแยกผู้ป่วยจากผู้อื่นอย่างน้อย 3 สัปดาห์ หลังเริ่มมีอาการ หรือตรวจเพาะเชื้อไม่พบเชื้อแล้ว 2 ครั้ง ผู้ป่วยที่หายจากโรคคอตีบแล้ว อาจไม่มีภูมิคุ้มกันโรคเกิดขึ้นเต็มที่ จึงอาจเป็นโรคคอตีบซ้ำอีกได้ ดังนั้นจึงต้องให้วัคซีนป้องกันโรค (DTP หรือ dT) แก่ผู้ป่วยที่หายแล้วทุกคน
            2) ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย เนื่องจากโรคคอตีบติดต่อกันได้ง่าย ดังนั้นผู้สัมผัสโรคที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคจะติดเชื้อได้ง่าย จึงควรได้รับการติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด โดยทำการเพาะเชื้อจากลำคอ และติดตามดูอาการ 7 วัน ในผู้ที่สัมผัสโรคอย่างใกล้ชิดที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคมาก่อน หรือได้ไม่ครบ ควรให้ยาปฏิชีวนะ benzathine penicillin 1.2 ล้านหน่วย ฉีดเข้ากล้าม หรือให้กินยา erythromycin 50 มก./กก/วัน เป็นเวลา 7 วัน พร้อมทั้งเริ่มให้วัคซีน เมื่อติดตามดูพบว่ามีอาการ และ/หรือตรวจพบเชื้อ ให้ยาปฏิชีวนะดังกล่าว พร้อมกับให้ diphtheria antitoxin เช่นเดียวกับผู้ป่วย
            3) ในเด็กทั่วไป การป้องกันนับว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยการให้วัคซีนป้องกันคอตีบ 5 ครั้ง เมื่ออายุ 2, 4, 6 และ 18 เดือน และกระตุ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่ออายุ 4 ปี 

Link    https://blog.eduzones.com

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

                      เขียนบรรยายอาการโรคคอตีบ

โรคคอตีบ “ไข้-เจ็บคอ เสียงแหบ หอบหน้าเขียว”

ผู้ป่วยรายที่ 1

คืน หนึ่งข้าพเจ้าถูกปลุกกลางดึก เมื่อลุกลงไปก็พบว่า ด.ญ. ศศิธร อายุ 5 ปี กำลังหอบขนาดหนัก หอบจนหน้าเขียว บริเวณคอด้านหน้าและไหปลาร้าบุ๋มลึกขณะที่เด็กพยายามกำลังหายใจเข้าอย่าง เต็มที่ เพื่อให้ร่างกายได้รับออกซิเจน ขนาดยืนอยู่ห่างๆ ก็ได้ยิน เสียงหายใจดังลั่น พูดเสียงแหบ เด็กกระวนกระวายมาก ทำท่าจะขาดใจ

ข้าพเจ้า รีบถามประวัติอย่างรวดเร็วได้ความว่าเป็นไข้เจ็บคอมา 2-3 วัน แต่ไม่ได้พาไปหาหมอเพราะนึกว่าเป็นหวัด เจ็บคอธรรมดา เพิ่งมีอาการหอบเมื่อ 2-3 ชั่วโมงมานี่เอง ข้าพเจ้าจึงรีบใช้ด้ามช้อนกดลิ้นดูก็เห็นบริเวณต่อมทอนซิล และผนังด้านหลังของคอมีแผ่นสกปรกสีเหลืองปนเทาปกคลุมอยู่ เมื่อเอาด้ามช้อนเขี่ยดูพบว่า แผ่นนั้นติดแน่นกับต่อมทอนซิล ต้องเขี่ยแรงๆ จึงลอกหลุดออกมา และมีเลือดออกมาด้วย ถามว่าเด็กเคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบหรือเปล่า ได้รับคำตอบว่า เคยฉีด 3 ครั้งเมื่ออายุได้ 2 เดือน, 4 เดือน และ6 เดือน ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข และได้รับการนัดหมายจากศูนย์ให้ไปฉีดซ้ำเมื่ออายุ 1 ปีครึ่ง แต่ไม่ได้ไป เพราะมัวยุ่งอยู่กับการทำมาหากิน จึงลืมและไม่ได้พาไปฉีดอีก

เด็กเป็น โรคคอตีบอย่างแน่นอน เพราะไม่ได้ฉีดกระตุ้นวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ เด็กอาการหนักมาก ไม่ทราบว่าจะรอดหรือเปล่า ข้าพเจ้าจึงบอกให้บิดามารดาเด็กพาเด็กไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดด่วน ข้าพเจ้าจะรีบโทรศัพท์ไปยังโรงพยาบาลนั้นให้ทราบล่วงหน้าไว้ก่อน หลังจากเด็กจากไปแล้ว ข้าพเจ้ารีบโทรศัพท์แจ้งไปยังแพทย์เวรที่โรงพยาบาล ขอร้องให้แพทย์เวรเตรียมห้องผ่าตัด และเตรียมเจาะคอโดยด่วน ทราบภายหลังว่า เมื่อเด็กไปถึงโรงพยาบาลก็รีบเข้าห้องผ่าตัดทันที เนื่องจากแพทย์และพยาบาลชำนาญมากจึงสามารถเจาะคอได้สำเร็จในเวลาอันรวมเร็ว เด็กจึงไม่ตายหรือกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา สมองซึ่งเป็นส่วนที่ไวต่อการขาดออกซิเจนมากที่สุด ขาดเพียงประมาณ 4 นาที ก็หมดสมรรถภาพแล้ว แพทย์พบแผ่นลักษณะดังกล่าวข้างต้นอยู่ในหลอดลมเต็มไปหมด ใช้คีมคีบออกมาเป็นปลอกยาวคล้ายไส้ไก่ หลังจากดึงปลอกอันนี้ออก เด็กก็หายใจได้ เวลานี้เด็กคนนี้กำลังเรียนในวิทยาลัยแห่งหนึ่งท่าทางฉลาด พูดจาเก่ง ขยันขันแข็ง ช่วยบิดามารดาทำการค้าได้

ผู้ป่วยรายที่ 2

ด.ญ. แดงอายุ 3 ปี มาจากต่างจังหวัดมีอาการร้อนตัว เจ็บคอมา 4-5 วัน บริเวณด้านนอกของคอบวมอูมทั้งสองข้าง เด็กกินอะไรไม่ได้ เพลียมาก ไม่มีแรง ยืนเดินไม่ได้ พูดเสียงแหบเบา ไม่มีอาการหอบ ตรวจพบว่า ในคอมีแผ่นเช่นเดียวกันกับรายแรกอยู่ที่ต่อมทอนซิล ชีพจรเบาแทบจับไม่ได้ ฟังเสียงหัวใจพบว่าหัวใจเต้าช้าเพียง 30 ครั้งต่อนาที ได้ให้ยารักษาผู้ป่วยรายนี้อย่างเต็มที่ แต่ไม่รอด เพราะหัวใจอักเสบจากพิษของเชื้อโรคคอตีบ

ผู้ป่วยรายที่ 3 และรายที่ 4

เมื่อ 40 ปีมาแล้ว ข้าพเจ้าจำได้ว่า น้องและหลานข้าพเจ้าในต่างจังหวัดมีอาการหอบ หายใจไม่ออกแล้วตาย หมอบอกว่า เป็นโรคคอตีบ แต่ไม่สามารถช่วยได้เพราะไม่มีเครื่องมือและผู้ช่วยในการผ่าตัดเจาะคอ ข้าพเจ้าเองโชคดีที่ไม่ได้เป็นโรคนี้ การที่ได้เห็นน้องและหลาน ซึ่งเป็นที่รักของข้าพเจ้า ทนทุกทรมานเหมือนกับใครมาบีบคอ ตายไปต่อหน้าต่อตายังฝังใจข้าพเจ้าอยู่บัดนี้ แม้เวลาจะผ่านมา 40 ปีแล้ว โรคนี้ยังมีมากอยู่ในประเทศไทย ผู้ป่วยด้วยโรคนี้มารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช ถึงปีละประมาณ 100 คน ฉะนั้น ข้าพเจ้าขอวิงวอนต่อท่านที่เป็นบิดามารดาของเด็กๆ ทั้งหลายทั่วประเทศ ขอได้เสียสละเวลาของท่านพาบุตรหลานของท่านไปรับการป้องกันตามกำหนดเสีย เมื่อฉีดครบแล้วต้องพาไปฉีดกระตุ้นเสียด้วย มิฉะนั้นภูมิคุ้มกันจะลดลง ป้องกันไม่ได้ เกิดเป็นโรคได้ เช่นเดียวกับผู้ป่วยรายที่ 1 สมัยปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขทำวัคซีนรวมกัน 3 อย่าง คือ วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน และ บาดทะยัก ฉีดชุดแรก 2 หรือ 3 ครั้ง ดังกล่าวข้างต้น แล้วแต่แพทย์หรือพยาบาลจะกำหนดเป็นแห่งๆ ไป ที่จริงฉีด 2 ครั้งก็ป้องกันได้ แต่ถ้าฉีด 3 ครั้ง จะป้องกันโรคไอกรนได้ดีกว่า 2 ครั้ง แต่ในชนบทที่ห่างไกล เพื่อความสะดวกของบิดามารดาอาจจะได้ฉีดเพียง 2 ครั้งเท่านั้น ที่มักจะลืมก็คือ ต้องมาฉีดกระตุ้นเมื่ออายุได้ 1 ปีครึ่ง และ 4 ปีมิฉะนั้นอาจจะต้องเสียใจภายหลัง

สาเหตุของโรคคอตีบ เกิดจากเชื้อคอตีบซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งชื่อ โครินแบคทีเรียมดิพทีเรีย (Corynbacterium diphtheriae) ติดต่อโดยทางเสมหะ เช่น การจามหรือไอ ระยะฟักตัวสั้นมากเพียง 1-7 วัน

อาการของโรค ดังที่ได้กล่าวแล้ว มีไข้ เจ็บคอมีอาการอุดตันของกล่องเสียงและหลอดลม ทำให้เสียงแหบและหายใจไม่ออก

ที่ สำคัญ คือ นอกจากจะทำให้การอุดตันของทางเดินหายใจแล้ว เชื้อโรคจากคอและหลอดลมจะปล่อยพิษออกมาในกระแสเลือด ทำให้หัวใจอักเสบได้ เช่น รายที่ 2 ผู้ป่วยตายด้วยหัวใจอักเสบโดยที่ไม่มีการอุดตันของทางเดินหายใจ ผู้ที่มีหัวใจอักเสบแล้วอาจจะมารอด อาการหัวใจอักเสบเกิดได้รวดเร็วมาก ผู้ป่วยจะอ่อนเพลีย กินอาหารไม่ได้ อาเจียน หน้าซีด ชีพจรเบาเร็ว เสียงหัวใจเบา ระยะหลังเส้นประสาทหัวใจจะถูกทำลาย ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติไปหัวใจห้องบนจะเต้นตามปกติคือ ประมาณ 70 ครั้งต่อนาที แต่ห้องล่างจะเต้นโดยอัตโนมัติ ประมาณ 20-40 ครั้งต่อนาที ทำให้สูบฉีดเลือดไม่พอเพียงที่จะไปเลี้ยงร่างกาย ประกอบกับกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบด้วย จึงทำให้หัวใจวาย

การรักษา ยา ที่สำคัญคือ ซีรั่มแก้พิษเชื้อคอตีบต้องรีบให้ทันที อาจใช้ฉีดป้องกันในเด็กที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ และไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันมาก่อน ยานี้แพงมาก นอกจากนี้ก็ให้ เพนนิซิลลินเพื่อฆ่าเชื้อ เจาะคอในกรณีที่มีการอุดตันของทางเดินหายใจ ให้พักเป็นเวลานานประมาณ 1 เดือน เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนทางหัวใจ

อย่าง ไรก็ดี เรื่องการป้องกันเป็นเรื่องสำคัญมากในประเทศที่การสาธารณสุขเจริญ เด็กจะได้รับวัคซีนป้องกันอย่างทั่วถึง ในบางประเทศถ้าเกิดโรคคอตีบขึ้นในท้องที่ใด เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบจะถูกให้ออก เพราะถือว่าบกพร่องต่อหน้าที่ในการป้องกันโรค

ประเทศเรา ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจถึงความสำคัญของการป้องกันโรค แต่ถ้าได้รับความร่วมมือจากทุกๆ ท่าน ช่วยกันบอกให้เพื่อนบ้านพาบุตรหลานไปฉีดวัคซีนป้องกันตามกำหนดเสีย โรคอันแสนทรมานนี้ก็จะหมดไปจากประเทศไทย ท่านจะได้บุญกุศลเป็นอย่างยิ่ง วัคซีนรวมนี้ถ้าฉีดตามสถานที่ราชการจะไม่เสียเงิน รัฐบาลฉีดให้ฟรี

ข้าพเจ้าขอกล่าวย้ำตามเคยว่า

“กันไว้ดีกว่าแก้ !”

           Link     https://www.doctor.or.th

++++++++++++++++++++++++++

                      อาการของโรคคอตีบ

เด็กเจ็บคอ เสียงแหบ หายใจลำบากอาการของโรคคอตีบ

คุณผู้อ่านครับ ท่านคงเคยพบเด็กที่มีอาการตัวร้อยร่วมกับหายใจลำบากหรือหายใจหอบมาบ้างแล้ว ใช่ไหมครับ ?

เด็กที่มีอาการแบบนี้ส่วนมาก เมื่อพาไปให้หมอตรวจ หมอมักจะบอกว่า เป็นโรค ปอดบวม (หมอบางคนก็บอกว่า ปอดชื้น หรือ ปอดอักเสบ) ฉีดยา กินยา ก็หายไป

แต่ถ้าปล่อยไว้จนมีอาการหอบมาก ก็อาจตายได้


ทีนี้มีโรคหนึ่ง ที่ทำให้เกิดอาการคล้ายๆ กัน แต่มีอันตรายร้ายแรงมาก ซึ่งอาจทำให้เด็กตายได้อย่างรวดเร็ว โรคนั้นก็คือ คอตีบ ไงล่ะครับ

เด็กที่เป็นโรคคอตีบ จะมีอาการตัวร้อนรุ่มๆ ไม่ร้อนจัดเหมือนเด็กที่เป็นปอดบวม หรือต่อมทอนซิลอักเสบ อาการจะค่อย เป็นค่อยไปอยู่หลายวัน เด็กจะบ่นเจ็บคอ ไอเสียงแหบห้าว กลืนอาหารไม่ค่อยด้ แล้วต่อมาจะมีอาการหายใจเสียงดังครู้ปๆ และท่าทางหายลำบาก คล้ายกับมีอะไรติดอยู่ที่คอหอย (รูปที่ 1) หน้าซีดหน้าเซียว กระวนกระวาย
 


เด็กบางคนจะมีอาการคอบวมเหมือนคอวัว (รูปที่ 2)
พอถึงขั้นนี้ ถ้าไม่ได้รับการรักษา เด็กจะตาย เพราะหายใจเข้าออกไม่ได้
ถ้ารีบพาไปโรงพยาบาล หมอจะทำการเจาะคอช่วยหายใจให้ยาเพนนิซิลลินฆ่าเชื้อคอตีบและยาแก้ผิดคอตีบ ซึ่งก็พอมีทางช่วยให้รอดได้
โรคนี้ชาวบ้านเราสามารถบอกได้เอง จากอาการดังกล่าว
และสามารถพิสูจน์ได้เอง โดยการตรวจดูภายในลำคอ โดยใช้ปลายด้ามช้อนง้างปากของเด็ก ใช้ไฟฉายส่องดูที่ลำคอ มักจะ พบมีแผ่นหนองสีขาวปนเทา ติดอยู่ที่ต่อมทอนซิลและผนังลำคอ (รูปที่ 3) ซึ่งติดแน่นเขี่ยออกยาก ถ้าเขี่ยดูบางครั้งมีเลือดออก


โรคนี้ถือเป็นโรคติดต่อร้ายแรง สามารถแพร่ระบาดไปยังเด็กอื่นๆ ในละแวกบ้านใกล้เรือนเคียงได้
โชคดีที่ปัจจุบัน เรามีวัคซีนป้องกันได้ รวมอยู่ในเข็มเดียวกับวัคซีนป้องกันไอกรนและบาดทะยัก
ถ้าไม่อยากให้ลูกหลานของท่านเป็นโรคติดต่อร้ายแรงชนิดนี้ก็อย่าลืมพาเด็กไปฉีดวัคซีนเสียล่ะครับ


วัคซีนนี้ฉีดในเด็กตั้งแต่อายุ 2-3 เดือนขึ้นไป ฉีดได้ฟรีตามสถานีอนามัย ศูนย์บริการสาธารณสุขและโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งครับ

             Link  https://doctor.or.th

 

อัพเดทล่าสุด