การป้องกันภาวะโลหิตจางขณะตั้งครรภ์ - ถ้าท้องแล้วแม่เป็นพาหะโรคโลหิตจาง หรือไม่ !!


743 ผู้ชม


โรคโลหิตจางกับคนที่ตั้งท้อง
วันนี้ผมขอคุยถึงเรื่องของโรคโลหิตจางกับคนที่ตั้งท้องซักหน่อย
นับย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ.2512-1513 อาจารย์แพทย์สอนผมให้ทราบว่า สาเหตุของโรคโลหิตจางในหญิงไทยที่ตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่เป็นเพราะขาดธาตุเหล็ก
ครับ...ธาตุเหล็ก เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของศูนย์กลางเม็ดโลหิตแดง ดังนั้นธาตุเหล็กจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างเม็ดโลหิตแดง
เมื่อขาดธาตุเหล็กจึงทำให้การสร้างเม็ดโลหิตแดงจึงเป็นไปได้ไม่ดีเท่าที่ควร ภาวะโลหิตจางจึงเกิดขึ้นมา
สาเหตุที่ทำให้ขาดธาตุเหล็กนั้นพบว่า พยาธิปากขอ เป็นต้นเหตุที่สำคัญที่สุด
พยาธิปากขอแพร่พันธุ์โดยอาศัยพื้นดินเป็นที่คอยหาเหยื่อ ประกอบผู้คนชาวบ้านช่วงสมัยก่อนโน้น ยังไม่ค่อยจะระมัดระวังกันในเรื่องนี้ จึงมักจะปล่อยปละละเลย ไม่สวมรองเท้า ชอบเดินเท้าเปล่า จึงเป็นเหตุให้พยาธิปากขอไชชอนผ่านผนังเท้าเข้าสู่ร่างกาย ไปออกลูกออกหลานอยู่ในลำไส้
ลูกหลานที่มีอยู่เต็มในลำไส้ก็กัดผนังลำไส้ทำให้เลือดออก แม้ว่าจะออกมาเพียงซิบๆ แต่ออกมาอยู่เรื่อยๆ มันก็เลยทำให้มีการเสียเลือดจนเกิดเป็นโรคโลหิตจางได้
คงเป็นเพราะบ้านเมืองเจริญขึ้น ผู้คนจึงสวมรองเท้ากันมากขึ้นเป็นนิจสิน ผมจึงเชื่อว่าคนไทยทุกวันนี้มีภาวะโลหิตจางที่เกิดขึ้นเพราะพยาธิปากขอเป็นเหตุน่าจะลดน้อยลงไปมาก
แต่ภาวะโลหิตจางที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับความเป็นคนไทย มีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ จนน่าเป็นห่วง สาเหตุที่ว่านี้ มิใช่เพราะพยาธิปากขออีกต่อไป แต่เป็นเพราะโรคเลือดประเภทหนึ่ง ซึ่งสามารถถ่ายทอดสู่ลูก หลาน เหลน ได้ทางกรรมพันธุ์
คุณๆ คงจะเคยได้ยินมาบ้างนะครับเกี่ยวกับโรคเลือดที่เรียกว่า “โรคธาลาสซีเมีย” (Thalassemia) ด้วยความเป็นสูติแพทย์จึงมีโอกาสได้สัมผัสกับผู้ป่วย หรือได้เจอผู้ป่วยที่มีโรคนี้แอบแฝงอยู่บ่อยๆ บ่อยจนน่าเป็นห่วงว่าในอนาคตคนไทยจะมีโรคเลือดประเภทนี้แฝงเป็นพาหะมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่มีที่สิ้นสุด เพราะคงไม่มีกฎหมายกำหนดห้ามมิให้บุคคลที่มีโรคเลือดธาลาสซีเมียแอบแฝง หรือเป็นพาหะนำโรคต่อการที่จะมีลูกสืบสกุลได้
แน่นอนคงไม่มีใครแม้แต่สักคนเดียวที่ต้องการจะเป็นโรคเลือดที่ว่านี้ และไม่มีใครต้องการที่จะมีลูกมีหลานเป็นโรคเลือดที่ว่านี้เช่นกัน แต่โดยปุถุชน ทุกคนเมื่อแต่งงานมีครอบครัวแล้วก็ย่อมจะต้องการมีลูกมีเต้าเป็นเรื่องธรรมดา
แล้วเราจะทำกันอย่างไร เพื่อจะให้จำนวนของโรคเลือดธาลาสซีเมียมันลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ หรืออย่างน้อยก็อย่าให้มันมีเพิ่มมากขึ้นไปกว่านี้อีก
ต้องยอมรับครับว่า มันทำให้ยากยิ่ง เพราะต้องอาศัยความร่วมมือกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างทั้งสองเพศที่กำลังอยู่ในวัยเจริญพันธุ์
ผมมีข้อเสนอแนะอย่างนี้ครับ
ประการที่หนึ่ง ประชาชนคนไทยทุกคนต้องเจาะเลือดความเป็นไปว่าตนเองเป็นโรค หรือพาหะนำโรคธาลาสซีเมียหรือไม่ และเก็บข้อมูลเป็นบันทึกประจำตัวเอาไว้ เช่นเดียวกับกรุ๊ปเลือด
ประการที่สอง ฝ่ายหญิงกับฝ่ายชาย เมื่อมาคบหาสมาคม ทำความรู้จักกันก่อนที่จะตกลงปลงใจรับกันเป็นแฟน เป็นเพื่อนที่รู้ใจ ทั้งสองฝ่ายต้องเปิดเผยข้อมูลของสภาพเลือด นอกเหนือจากโรคติดเชื้อเป็นโรคเอดส์ โรคซิฟิลิส แล้วก็เรื่องของโรคธาลาสซีเมียนี่แหละครับ
ถ้าข้อมูลออกมาปลอดภัย ทั้งสองฝ่ายก็สามารถดำเนินชีวิตคบหากันต่อไปได้
แต่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดเป็นพาหะนำโรค อีกฝ่ายก็ควรจะได้คิดไตร่ตรองว่า จะคบกันต่อไปดีหรือไม่ เพราะมีความเสี่ยงในเรื่องโรคเลือดอยู่บ้างแล้ว
แต่ถ้าหากพบว่า ทั้งสองฝ่ายต่างก็เป็นพาหะนำโรคธาลาสซีเมีย แล้วโชคชะตานำพาให้มาพบกัน กรณีเช่นนี้ต้องคิดกันหนักหน่อยนะครับ เพราะมีความเสี่ยงต่อการเกิดเป็นโรคธาลาสซีเมียขึ้นมาในขั้นลูกๆ ได้
การเป็นเพียงแค่พาหะนำโรคนั้น คุณอาจไม่มีอาการอะไรแสดงออกมาให้รู้ได้ แต่ถ้าในกรณีเป็นโรคนั้นจะมีอาการแสดงของการเป็นโลหิตจางได้อย่างชัดเจน เช่น ซีด ไม่มีแรง อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เล่นกีฬาไม่ไหว ตับม้ามโต ต้องให้เลือดกันเป็นประจำ สุดท้ายก็อายุสั้น
ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อคุณได้รับทราบข้อมูลกันทั้งสองฝ่าย คุณก็จะได้มีเวลาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ทั้งนี้ก็เพื่อสุขภาพของครอบครัวคุณเอง และแน่นอนมีผลดีต่อประเทศชาติในทางอ้อมด้วยเช่นกัน
ประการที่สาม เมื่อทราบข้อมูลกับทั้งสองฝ่ายแล้วและเป็นที่รับทราบว่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นโรคหรือเป็นแค่พาหะนำโรคธาลาสซีเมีย หรือเป็นพาหะนำโรคกันทั้งสองฝ่าย หรือที่แย่ที่สุดคือ เป็นโรคธาลาสซีเมียกันทั้งสองฝ่าย
แต่คุณยังคงตัดสินใจที่จะร่วมหอสร้างครอบครัวด้วยกัน ด้วยอานุภาพแห่งความรักมีมากเหลือเกินนั้น มันไม่เข้าใครออกใคร ก็สามารถแต่งงานกันได้ครับ ไม่มีใครที่ไหนจะมาห้ามได้
แต่ก็อย่างที่ว่าไว้นั่นแหละครับ คุณๆ ก็ต้องมีการวางแผนในเรื่องของการมีลูกให้ดี หากไม่ทราบว่าจะไปปรึกษาใครที่ไหน
ก็สูติแพทย์นั่นแหละที่ดีที่สุดครับ
ที่มา  www.bloggang.com

อัพเดทล่าสุด