เท้าบวม เบาหวาน เท้าบวมข้างเดียว รักษาไงไม่ให้ถูกตัด !!


เท้าเบาหวาน ไม่อยากถูกตัด ต้องหมั่นดูแล

เท้าเบาหวาน


เท้าเบาหวาน...ไม่อยากถูกตัด ต้องหมั่นดูแล (ไทยรัฐ)
          ผู้ที่เป็นเบาหวานมานาน เท้าอาจเริ่มมีอาการชา จากปลายเท้าชามากขึ้นเรื่อยๆ ชาตลอดเวลา รู้สึกเหมือนฝ่าเท้าไม่สะอาด เหมือนเหยียบกรวดทราย หลายคนไม่ชาอย่างเดียว ยังปวดแสบปวดร้อนร่วมด้วย ปวดกระตุกตอนกลางคืน พอเคลิ้มจะหลับก็กลับปวดจนตื่น แต่กลางวันไม่ค่อยเป็น อาการเช่นนี้เข้าข่ายปลายประสาทอักเสบถามหา เมื่อเป็นแล้วจะลุกลามไปเรื่อยๆ ทำให้ไม่มีความรู้สึก เวลามีแผลเลือดออกก็ไม่รู้ตัว ไม่รู้สึกปวด แต่จะมีอาการบวมแดง เพราะติดเชื้อรุนแรง และอาจใช้ขาไม่ได้อีกต่อไป
ทำไมเท้าเบาหวานจึงเกิดอาการเช่นนี้
          หลอด เลือด...เส้นทางลำเลียงอาหาร ออกซิเจน และสารอื่นๆ เมื่อเกิดการติดเชื้อ หลอดเลือดจะเป็นเส้นทางส่งเม็ดเลือดขาว และอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อต่อสู้และฆ่าเชื้อโรคให้แผลหายเร็วขึ้น  แต่จากผลต่อเนื่องของการเป็นเบาหวานที่ยาวนาน  ทำให้หลอดเลือดมีปัญหา ทั้งตีบ ทั้งขรุขระ และเป็นหลุมเป็นบ่อ  ส่งผลให้แผลไม่หาย กลายเป็นแผลเรื้อรัง เส้นเลือดยังอุดตันจากผลการอักเสบเกิดเป็นเนื้อเน่าตาย เชื้อโรคร้ายลุกลามถึงกระดูก และสุดท้ายก็ถูกตัดขาเพื่อรักษาชีวิตไว้
อันตรายจากเบาหวานกับเท้าที่พึงตระหนักไว้เสมอ คือ
          เบา หวานทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนของปลายประสาทอักเสบและหลอดเลือดแดงตีบปลายประสาท อักเสบนำไปสู่การเกิดแผลที่เท้าได้ง่าย เบาหวานทำให้ติดเชื้อได้ง่าย หลอดเลือดแดงตีบทำให้การอักเสบลุกลามง่าย แผลหายยากเมื่อเกิดเนื้อตาย เชื้อกินถึงกระดูก โอกาสถูก ตัดเท้า สูง ผลกระทบสูงทั้งด้านการเงิน เวลา การทำงาน ความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ
          ทั้ง หมดสามารถป้องกันได้ ถ้ารักษาเบาหวานให้ดี และดูแลเท้าอย่างสม่ำเสมอ เช่น ตัดเล็บเท้า ดูเหมือนของง่าย แต่ต้องระวัง เพราะถ้าตัดลึกเกินไป เกิดแผลเลือดออก มีโอกาสติดเชื้อ โดยเฉพาะผู้ที่ตาไม่ดี หรือเท้าชาจนไม่รู้สึกเจ็บ  ตัดไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดเล็บขบ บางรายก็มีเล็บงอกแทงเข้าไปในเนื้อ ถ้าอักเสบจะตามมาด้วยปวด บวม แดง เป็นหนอง และลุกลามได้ หรือกรณีตัดไม่ถึง เพราะอ้วนเกินไปก้มไม่ลง ตัดไม่ได้ เพราะตามองไม่เห็น หรือเป็นอัมพาต บางคนเลยปล่อยเล็บ ยาว แห้ง แข็ง ดำ สกปรก หรือฉีกขาด แล้วมีโอกาสติดเชื้ออักเสบลุกลามเป็นเรื่องใหญ่ภายหลัง การดูแลเล็บเท้าให้สะอาด และตัดเล็บเท้าให้สั้นพอดี เป็นส่วนหนึ่งการดูแลสุขภาพเท้า
           ขูดหรือฝานหนังหนาหรือตาปลา เท้าที่ถูกกดทับบีบรัดเสียดสี มีโอกาสเกิดหนังหนาหรือตาปลาขึ้น และมีโอกาสเป็นแผล การขูดหรือฝาน ต้องรักษาความสะอาดด้วยวิธีการที่ถูกต้อง และระมัดระวังไม่ให้เกิดอันตรายหรือเป็นแผลได้ บางรายใช้มีดหรือกรรไกรปาดตัดดึงขูดแคะอย่างปราศจากความรู้ นำไปสู่การเกิดแผลอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผสมกับติดเชื้อก็เอื้อให้ลุกลามอักเสบเป็นหนองได้
           ถ้าเท้าผิดปกติ อย่า รีรอรีบพบแพทย์ อาการที่เท้าเกิดได้หลายอย่าง บางครั้งสะท้อนถึงโรคตามระบบ ไม่ใช่ผิดปกติเฉพาะเท้า เช่น บวม อาการที่พบได้บ่อย เท้าบวมสองข้างสะท้อนถึงโรคตามระบบหลายอย่าง ตั้งแต่ ตับ ไต หัวใจ ไทรอยด์ ขาดอาหาร เป็นต้น อาจจะบวมข้างเดียว เช่น การอักเสบของเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ข้ออักเสบ หลอดเลือดดำอักเสบ การอุดกั้นเฉพาะที่ของหลอดเลือดดำหรือท่อน้ำเหลือง เป็นต้น
           ปวด เป็นอาการที่นำมาพบแพทย์ได้บ่อย อาจจะปวดที่ส้นเท้า ฝ่าเท้า จากการอักเสบเยื่อพังผืดที่รับน้ำหนักตัวมากเกินไป อุบัติเหตุ หกล้ม ถูกเหยียบ ทับหรือกระแทก เกิดฟกช้ำ บวม ซ้น หัก เป็นต้น ปวดจากการอักเสบติดเชื้อของเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง หรือเป็นฝี หนอง แผลอักเสบ หรือปวดจากการอักเสบของข้อ เช่น จากโรคเกาต์ ข้ออักเสบรูห์มาตอยด์ หรือข้ออักเสบจากการติดเชื้อ เป็นต้น ปวดจากหลอดเลือดแดงตีบ เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเวลาเดินออกกำลังกาย มีอาการปวดที่น่อง ระยะทางที่สามารถเดินได้จะสั้นลงๆ ตามระยะเวลาที่เป็นนานขึ้นและการไหลเวียนเลือดที่ลดลง ในเบาหวานที่มีโรคแทรกซ้อนจากปลายประสาทอักเสบที่ทำให้ชา อาการปวดจะลดลงหรือไม่ค่อยปวดเลยแม้กระดูกหักยังไม่รู้สึกปวดก็มี
           ชา ปลาย ประสาทอักเสบเป็นโรคแทรกซ้อนระยะท้ายของเบาหวาน ประสาทรับความรู้สึกลดลงทั้งความรู้สึกสัมผัส เจ็บปวด ร้อนเย็น และการทรงตัว ผู้ที่เป็นเบาหวานมานานจึงเดินเซ สะดุดได้ง่าย ไม่รู้สึกเจ็บปวดเมื่อเหยียบหรือสัมผัสของแข็ง ของมีคม ถ่านไฟ น้ำร้อน เป็นต้น และนำไปสู่การเกิดแผลได้ง่าย  จึงเสมือนกลไกการป้องกันผิวหนังสูญเสียไป ไม่สามารถหลบหลีกเท้าหนีจากสิ่งที่ทำร้ายผิวหนัง
           เชื้อรา ที่เล็บและซอกนิ้วเท้าเป็นเชื้อราโดยไม่รู้ตัว ไม่ใช่เล็บเดียวแต่เป็นเกือบทุกนิ้ว บ้างเป็นที่ซอกนิ้วจากความอับชื้น ทำให้คันและลอกเป็นแผลมีโอกาสติดเชื้อได้
           อักเสบ อาการอักเสบคือ ปวด บวม แดง ร้อน ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ บางครั้งเกิดจากข้ออักเสบที่ไม่ใช่เชื้อโรค เช่น ข้ออักเสบจากโรคเกาต์ ข้ออักเสบรูห์มาตอยด์ เป็นต้น ถ้าการอักเสบนั้นเกิดจากแผล ก็มีการฉีดขาดของผิวหนังมาก่อน และแผลสกปรกมีเชื้อโรคลุกลามอักเสบ กลายเป็นหนองและเนื้อตาย ในรายที่เท้าชาก็จะไม่รู้สึกเจ็บ กว่าจะรู้ว่ามีแผลบางทีก็อักเสบลุกลามมากมาย ต้องใช้เวลานานในการรักษา และสูญเสียเนื้อเยื่อ หรือถึงกับเสียอวัยวะบางส่วน เช่น ตัดนิ้วเท้า เป็นต้น
           แผล เป็นการฉีกขาดของผิวหนัง หรือผิวหนังพองเป็นน้ำเหลืองหรือหนอง ไม่ว่าจากอุบัติเหตุหรือเหตุใดเหตุหนึ่ง หรือจากแผลกดทับ เมื่อเกิดแผลถ้ารู้ตัวเร็วรักษาแผลให้ดี ทำความสะอาดให้ถูกต้อง ก็จะหายได้เร็ว แต่ถ้าชะล่าใจปล่อยทิ้งนาน เบาหวานรักษาไม่ดี แผลเกิดอักเสบก็ลุกลามใหญ่โตได้ มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่ตัดเท้าจากแผลเบาหวาน สามารถป้องกันได้ หากดูแลรักษาและเอาใจใส่เท้าแต่แรก รวมทั้งควบคุมเบาหวานให้อยู่ในเกณฑ์ดี
           เนื้อตาย หลอด เลือดแดงตีบมากจนนำเลือดไปเลี้ยงไม่พอ ทำให้ส่วนปลายของเท้าขาดเลือด เกิดเนื้อตายเป็นสีดำ และลามขึ้นมาข้างบนได้เรื่อยๆ ในบางรายเป็นมากจนนิ้วเท้าแห้งหลุดร่วงไปเอง เริ่มจากอาการปวดเท้าเวลาเดินมาก ระยะเวลาที่เดินสั้นลง ผิวหนังมัน เลี่ยน ขนหลุดล่วง เล็บเท้าไม่งอก กลางคืนปวดเท้าจากหลอดเลือดหดตัว เป็นมากๆ สีที่ปลายเท้าเริ่มคล้ำขึ้นจนกลายเป็นเนื้อตาย และต้องตัดเท้าในที่สุด
           เท้าเบาหวานควรได้รับการตรวจอย่างครบถ้วนและทดสอบความรู้สึกอย่างน้อยปีละครั้ง แม้ยังไม่มีอาการก็ตาม ดังนี้
          การดู ดูโครงสร้าง ลักษณะเท้า นิ้วเท้า เล็บ สีผิว ผิวหนัง ความสะอาด รอยแตก ตาปลา
          การบวม การติดเชื้อ เท้าผิดรูป
          การคลำ คลำเท้า สัมผัสผิวหนัง ผิวปกติ แห้ง มัน หนา หยาบ ละเอียด ผิวแตก ตาปลา บวมกดบุ๋ม ร้อน เย็น คลำชีพจร เป็นต้น
        ทดสอบความรู้สึก การทรงตัว การสั่นสะเทือน ความรู้สึกสัมผัส ร้อนเย็น เจ็บ หากมีอะไรผิดปกติ นั่นแสดงว่าเท้าเริ่มเสี่ยงต่ออันตรายมากขึ้น เช่น ความรู้สึกสัมผัสต่อการกระตุ้นด้วยเส้นใยฟิลาเม้นเดี่ยวผิดปกติ หมายถึงเริ่มมีปลายประสาทอักเสบแล้ว และมีโอกาสดำเนินโรคต่อไปเรื่อยๆ จนเกิดอาการชา และเป็นลางบอกเหตุที่ถึงเวลาต้องควบคุมเบาหวานให้ดี เพื่อชะลอการเกิดโรคแทรกซ้อนให้นานที่สุด

ที่มา   health.kapook.com

อัพเดทล่าสุด