เป็นงูสวัด เป็น งูสวัดที่ตา พร้อมตัวอย่าง ดูรูปคนที่เป็นงูสวัดที่ตา


1,380 ผู้ชม


โรคงูสวัดกับดวงตา
โดย แพทย์หญิง อรทัย ชาญสันติ จักษุแพทย์ประจำศูนย์แว่นตาไอซอพติก

โรคงูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Varicella Zoster เป็นไวรัสตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใสซึ่งเป็นการติดเชื้อครั้งแรก ไวรัสตัวนี้เมื่อถูกกระตุ้นจากภาวะที่ร่างกายอ่อนแอก็จะแสดงอาการออกมาเป็น งูสวัด

โรคงูสวัดที่เกิดอาการแสดงที่ดวงตาเราเรียกว่า Herpes zoster ophthalmicus เกิดจากเมื่อติดเชื้อครั้งแรกแล้วร่างกายไม่สามารถกำจัดตัวไวรัสได้หมด ตัวเชื้อจึงไปซ่อนที่ปมประสาทคู่ที่ 5 ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่บริเวณดวงตา พบภาวะนี้ได้ประมาณ 10-25% ของโรคงูสวัดทั้งหมด เมื่อมีอาการงูสวัดที่ดวงตาจะทำให้เกิดภาวะอักเสบเรื้อรังในลูกตา อาจสูญเสียการมองเห็น และมีอาการปวดตามเส้นประสาทรอบดวงตาได้

ความชุกของโรคงูสวัดในอเมริกาพบได้ประมาณ 1 ล้านคนต่อปี ซึ่งประมาณ 250,000 คนจะมีภาวะนี้ที่บริเวณดวงตา และความชุกของโรคจะเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยพบมากที่สุดที่อายุประมาณ 70 ปี

ปัจจัยเสี่ยง

ผู้ที่เป็นโรคงูสวัดมักเกี่ยวพันกับการมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งได้แก่

  • อายุมาก มักทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอจึงพบงูสวัดได้บ่อยกว่าหนุ่มสาว
  • โรคเอดส์
  • การได้รับยากดภูมิคุ้มกัน

อาการ

ผู้ที่เป็นงูสวัดมักมีประวัติเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน ในบางรายอาจพบภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องร่วมด้วย
อาการเริ่มแรกมักมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ ปวดแสบร้อนตามเส้นประสาทที่จะเกิดงูสวัด ซึ่งมักจะเกิดอาการเหล่านี้ประมาณ 1-4 วันก่อนที่จะมีตุ่มผื่นขึ้น ลักษณะตุ่มจะเริ่มจากเป็นตุ่มน้ำใส ต่อมากลายเป็นตุ่มหนอง และตกสะเก็ดในเวลา 7-10 วัน เมื่อหายแล้วมักมีแผลเป็นกระดำกระด่างตามรอยเส้นประสาทได้ ถ้ามีการติดเชื้อซ้ำซ้อนจากแบคทีเรียร่วมด้วยมักทำให้เกิดแผลเป็นชัดเจน

สำหรับงูสวัดที่ดวงตาทำให้เกิดอาการปวดตาและรอบๆดวงตา ตาแดง ตามัว มีผื่นขึ้นที่รอบตาและเปลือกตา น้ำตาไหล อาจมีไข้และปวดเมื่อยตัวร่วมด้วย

ผื่นและตุ่มน้ำจะพบได้ตามเส้นประสาทรอบดวงตาดังรูปด้านล่าง และจะกลายเป็นสะเก็ดในวันที่ 5-6 หากพบตุ่มน้ำลามมาถึงบริเวณปลายจมูกให้ระวังไว้ว่าจะมีภาวะอักเสบในลูกตา ร่วมด้วย

การอักเสบในดวงตาจากงูสวัด

พบการอักเสบได้หลายตำแหน่งตั้งแต่เปลือกตา เยื่อบุตาขาว ตาขาว กระจกตาดำ ช่องหน้าลูกตา เส้นเลือดที่เลี้ยงประสาทตา ในน้ำวุ้นตา จอประสาทตา รวมถึงขั้วประสาทตา และเส้นประสาทที่เลี้ยงกล้ามเนื้อตา

ภาวะแทรกซ้อนจากการอักเสบจะทำให้เกิดแผลเรื้อรังที่กระจกตา อักเสบเรื้อรังที่ช่องหน้าลูกตา อัมพาตของเส้นประสาทที่เลี้ยงกล้ามเนื้อตา ปวดตามเส้นประสาทที่เลี้ยงลูกตา แผลเป็นที่เปลือกตาทำให้เปลือกตาผิดรูป

เปลือกตาและเยื่อบุตาขาว :

การอักเสบที่เปลือกตาพบได้บ่อย และอาจทำให้เกิดหนังตาตกจากที่บวมและอักเสบ ตุ่มน้ำที่ขึ้นรอบๆ เปลือกตาเมื่อหายอาจมีแผลเป็นได้บ้าง เยื่อบุตาอาจมีอาการแดงบวมได้ ดังรูปด้านล่าง

กระจกตา :

การอักเสบที่กระจกตาจะเป็นสาเหตุให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นได้ จะมีอาการตามัว ปวด และสู้แสงไม่ได้ การอักเสบเป็นได้ในทุกชั้นของกระจกตา


ภาพแสดงการอักเสบที่ชั้นนอกสุดของกระจกตา เห็นเป็นรอยแผลที่กระจกตาดำเป็นเส้นแขนงคล้ายกิ่งไม้ ซึ่งเกิดจากเชื้อที่ยังมีชีวิตอยู่ ส่วนใหญ่พบได้หลังจากเกิดตุ่มที่รอบดวงตาประมาณ 1-2 วัน มักเป็นแผลชนิดนี้นาน 4-6 วันและอาจหายไปโดยมีรอยแผลเป็นที่กระจกตาดำหรือไม่มีก็ได้


ภาพแสดงการอักเสบที่เนื้อกระจกตา เห็นเป็นจุดขาวๆ เกิดจากการตอบสนองของภาวะภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อการติดเชื้อ การอักเสบแบบนี้อาจเกิดเป็นๆ หายๆ ได้


ภาพแสดงการอักเสบเป็นแผลเรื้อรังจากการที่เส้นประสาทที่เลี้ยงกระจกตาเสื่อม ทำให้การรับความรู้สึกที่กระจกตาเสียไป น้ำตาลดลง แผลหายยากกว่าปรกติ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องแผลเรื้อรังนี้อาจทำให้เกิดการติดเชื้ออื่นๆ หรือกระจกตาบางลงจนทะลุได้


ภาพแสดงภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้องูสวัดที่กระจกตา เกิดแผลเป็นที่กระจกตา กระจกตาบางจนทะลุ

ช่องหน้าลูกตาและม่านตา :

พบมีม่านตาและช่องหน้าลูกตาอักเสบ ซึ่งทำให้ตามัวได้ ส่วนใหญ่มักเป็นไม่รุนแรง แต่อาจทำให้เกิดความดันตาสูงในช่วงที่มีการอักเสบ

จอประสาทตาและขั้วประสาทตา :

เชื้อไวรัสงูสวัดอาจทำให้เกิดการอักเสบที่จอประสาทตาได้เห็นเป็น รอยขาวดังรูปด้านล่างขวา ซึ่งอาจรุนแรงมากในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องมาก เช่นโรคเอดส์ รวมถึงทำให้เกิดจอประสาทตาลอก สูญเสียการมองเห็นถาวรได้ ส่วนภาพล่างซ้ายแสดงภาวะขั้วประสาทตาบวม

การรักษา

ผู้ที่เป็นงูสวัดรอบดวงตาควรได้รับการตรวจตาด้วยจักษุแพทย์ ส่วนการรักษาได้แก่ การให้ยาต้านไวรัส ที่นิยมคือ acyclovir เป็นยากินประมาณ 7-10 วัน ยาตัวอื่นๆ ได้แก่ Valacyclovir หรือ Famciclovir

สำหรับการอักเสบในลูกตาหากพบร่วมด้วยจักษุแพทย์จะพิจารณาว่าเป็น การอักเสบที่ส่วนใดของลูกตา และให้การรักษาตามตำแหน่งที่ตรวจพบการอักเสบ

ที่มา  www.isoptik.com

อัพเดทล่าสุด