การออกกําลังกายเพื่อลดน้ําหนักและลดน้ําหนักด้วยการออกกําลังกายที่ถูกต้องถูกวิธี


1,246 ผู้ชม


คนปกติจะหยุดการเจริญเติบโตเมื่ออายุเกิน  25  ปี  หลังจากวัยนี้แล้วอวัยวะจะเริ่มเสื่อมลง  การที่น้ำหนักตัวลดลง  2 - 3 กิโลกรัมหลังอายุ  25  ปี  จึงเป็นสิ่งปกติ  แต่มักพบว่าคนส่วนใหญ่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยไขมันที่สะสมในร่างกาย   เนื่องจากการใช้แรงกายและออกกำลังน้อยลง  รับประทานอาหารมากเกินพอดี และไม่ได้สัดส่วน  และมีความเครียดผสมผสานเข้าไป  โดยทั่วไปมักถือว่าถ้าน้ำหนักตัวมากกว่า  20 %  ของน้ำหนักตัวมาตรฐานถือว่าอ้วน  น้ำหนักตัวมาตรฐานสามารถใช้วิธีคิดง่าย ๆ ดังนี้
 
  น้ำหนักตัวมาตรฐาน / กก.  =  ความสูง / (ซม.) - 110


ตัวอย่าง พิกุลมีน้ำหนักตัว 54 กก. สูง 155 เซนติเมตร พิกุลควรมีน้ำหนักตัว =155 - 110= 45 กก. แสดงว่าพิกุลมีน้ำหนักเกินมาตรฐานไป 9 กก. ( ภาพประกอบ 6.6)
แต่ก็อาจมากน้อยกว่าที่คำนวณได้ประมาณ  5  กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับลักษณะโครงสร้างร่างกายด้วย
การชั่งน้ำหนักตัวทุก ๆ วันในเวลาตื่นนอนตอนเช้าจะเป็นสิ่งบ่งบอกที่ดีถึงความสมดุลของอาหารที่บริโภคกับพลังงานที่ใช้ในแต่ละเว้น  ถ้าบริโภคอาหารที่พอเหมาะแล้ว  น้ำหนักตัวแต่ละวันไม่ควรต่างกันเกินกว่า  1  กก.  ซึ่งน้ำหนัก  1  กก.  นี้เป็นค่าของปริมาณน้ำในร่างกายที่อาจเปลี่ยนแปลงในแต่ละวัน  อาหารที่รับประทานมากเกินไปในแต่ละวันไม่ว่าจะเป็นไขมัน  แป้งหรือโปรตีนจะเปลี่ยนแปลงเป็นไขมันไปสะสมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทำให้อ้วน  อาหารเหล่านี้มักเป็นอาหารจานด่วน  (Fastfood) หรือ  อาหารขยะ (Junk Food)  เช่น  พิซซ่า  โดนัท  สปาเกตตี้
ความอ้วนอาจเกิดได้ทั้งจากภาวะโรคบางชนิด  หรือจากการไม่สมดุลของการรับประทานอาหารกับการใช้พลังงาน  กิจวัตรประจำวันของคนอ้วนส่วนใหญ่จะใช้พลังงานน้อย  และไม่ค่อยออกกำลังกาย  รวมทั้งไม่ชอบออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา  แต่ชอบบริโภคอาหารมากกว่าคนทั่ว ๆ ไป และชอบอยู่เฉย ๆ หรือนั่งดูโทรทัศน์
ปกติคนที่มีอายุมากกว่า  25  ปี  และมีกิจวัตรซึ่งไม่ต้องใช้พลังงานมากและไม่ได้ออกกำลังกายต้องการพลังงานในวันหนึ่งประมาณ 1,800 - 2,500  กิโลแคลอรี่  (ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของแต่ละคน)  ส่วนใหญ่ผู้ทำงานหนัก  เช่น  กรรมกรแบกหามหรือผู้เล่นกีฬานานกว่า 1 - 2 ชั่วโมงต่อวัน  อาจต้องการ      พลังงานถึง  5,000  กิโลแคลอรี่ต่อวัน
ความอ้วนมีผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจอย่างมาก  ผลเสียต่อวัยวะในร่างกายที่สำคัญคือ  ระบบการไหลเวียนเลือด  ระบบการหายใจ  และระบบการเคลื่อนไหว  เช่น  ข้อต่อต่าง ๆ
ถ้าเรากินอาหารมากกว่าที่ร่างกายต้องการวันละ  50  กิโลแคลอรี่ / วัน  (น้ำตาลทรายประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ)  ใน  1  ปีเราจะมีพลังงานเกินประมาณ   18,000  กิโลแคลอรี่  ซึ่งจะสะสมไว้ในร่างกายในรูป     ไขมันทำให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นประมาณ  3  กิโลกรัม  ฉะนั้น  ถ้าเรากินอาหารเกิน  50  กิโลแคลอรี่ต่อวัน  ใช้เครื่องทุ่นแรงต่าง ๆ แทนการออกกำลังทำงาน  และใช้เวลาว่างพักผ่อนนอนหรือนั่งดูโทรทัศน์แทนการเล่นกีฬา  เราจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ  30  กิโลกรัม  หรือ  58  %  ของน้ำหนักเฉลี่ยของชายไทย  (ชายไทย  166  ซม.โดยเฉลี่ย)  ภายใน  10  ปี  และผลเสียของการมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานก็จะเด่นชัดมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น
ถ้าขณะนี้ท่านมีน้ำหนักเกินมาตรฐานแล้ว  สิ่งที่ควรทำคือ  กำจัดน้ำหนักส่วนที่เกินออกโดยวิธีลดปริมาณอาหารและออกกำลังกายควบคู่กันไป  ไม่ควรใช้ยาทุกชนิดเพราะจะมีผลแทรกซ้อนเกิดขึ้นถ้าลดอาหารลงประมาณวันละ 100 กิโลแคลอรี่ และใช้พลังงานเพิ่มขึ้นวันละ 200  กิโลแคลอรี่ใน  1  เดือน  จะเสียพลังงาน  6,000  กิโลแคลอรี่  ซึ่งเป็นไขมันเกือบ  1  กิโลกรัม  (ไขมัน  1  กรัม  ให้พลังงาน  9  กิโลแคลอรี่  แต่ไขมันในร่างกายมีน้ำเป็นส่วนประกอบด้วย  14  %  ฉะนั้นเนื้อเยื่อไขมัน  1  กรัมจะให้พลังงานเพียง  7.7  กิโลแคลอรี่)
ถ้าเราต้องการลดน้ำหนักลงเร็วกว่านี้อาจลดได้ไม่เกิน  1  กิโลกรัมต่อสัปดาห์ถ้าลดลงมากกว่านี้จะรู้สึกเพลียและผิวหนังเหี่ยว
ที่มา www.swu.ac.th

อัพเดทล่าสุด